ดร.โสภณ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้สร้างเขื่อนแม่วงก์

15 Feb 2016
ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้ประสานงาน กลุ่มสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อป่าไม้ สัตว์ป่าและประชาชน ได้ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี วันนี้ เวลา 10.00 น. โดยในหนังสือดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

สถานที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์

15 กุมภาพันธ์ 2559

เรื่อง โปรดสร้างเขื่อนแม่วงก์ตามความต้องการของประชาชน

กราบเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

เนื่องด้วยกลุ่มสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อป่าไม้ สัตว์ป่าและประชาชน ได้สำรวจความต้องการของประชาชนต่อการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึง 79% ต้องการที่จะให้รัฐบาลสร้างเขื่อนแม่วงก์ กลุ่มฯ จึงทำหนังสือนี้มาเสนอรัฐบาล โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้:

คณะผู้สำรวจถ่ายภาพร่วมกันหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

การสำรวจนี้ดำเนินการในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 16-17 มกราคม 2559 ในเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์ เทศบาลนครนครสวรรค์ อำเภอลาดยาว เทศบาลตำบลลาดยาว อำเภอแม่วงก์ กิ่งอำเภอแม่เปิน อำเภอชุมตาบง และอำเภอโกรกพระ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ในการสำรวจ เป็นการสัมภาษณ์ประชาชนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ต่างๆ ข้างต้น โดยสุ่มกระจายไปในแต่ละท้องที่ของแต่ละอำเภอและเทศบาล ทั้งนี้ได้แบบสอบถามประมาณ 1,200 ชุด แต่ที่สามารถนำมาวิเคราะห์มี 1,096 ชุด ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม

ผลการสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึง 79% เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์บริเวณเขาสบกกที่เป็นเขตส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หากพิจารณาจากจำนวนประชากรที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปในแต่ละท้องที่ที่มีอยู่รวมกัน 356,476 คน จะพบว่า มีจำนวน 280,392 คนที่อนุมานได้ว่าเห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนนี้ แสดงว่าเขื่อนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจริง

จะสังเกตได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในเขตอำเภอเมืองและอำเภอลาดยาวที่จะได้รับผลดีจากการมีเขื่อนแม่วงก์เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ยกเว้นผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตามสัดส่วนของประชาชนที่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนมีเพียงครึ่งเดียวในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์และเทศบาลตำบลลาดยาว ทั้งนี้เพราะประชาชนในเขตเมืองอาจไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามแม้ประชาชนในเขตอำเภอแม่วงก์ แม่เปิน ชุมตาบง และโกรกพระ จะไม่ได้รับผลดีโดยตรงต่อการสร้างเขื่อนนี้ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย เพราะต่างก็มีอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในเขตกิ่งอำเภอแม่เปิน มีประสบการณ์ที่ดีกับการมีเขื่อน (อ่างเก็บน้ำ) คลองโพธิ์ ทำให้สามารถทำการเกษตรกรรมได้ดี และยังสามารถทำการประมงหาเลี้ยงชีพได้อีกด้วย

ที่ผ่านมา กลุ่มฯ ได้ทำการสำรวจความเห็นของประชาชนมาก่อน โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ผลการสำรวจในครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2556 มีผู้เห็นด้วย 69% ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2557 มีผู้เห็นด้วยเพิ่มขึ้นเป็น 71% และล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2559 มีผู้เห็นด้วยเพิ่มขึ้นเป็น 79% การนี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงเพิ่มขึ้น จนสามารถสรุปความต้องการเขื่อนแม่วงก์ได้อย่างชัดเจนสำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น นอกจากที่ส่วนมากเป็นผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมแล้ว ยังมีความเข้าใจผิดบางประการที่ได้รับข้อมูลที่บิดเบือนจากกลุ่มเอ็นจีโอ เช่น

1. เกรงสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ ทั้งที่แต่เดิมเป็นหมู่บ้านราว 200-300 ครัวเรือน พร้อมพื้นที่เกษตรกรรม (ยังมีต้นมะพร้าวเป็นหลักฐานอยู่) ชาวบ้านเหล่านี้ได้รับการจัดที่ดินให้อยู่บริเวณหน้าทางเข้าอุทยานในทุกวันนี้ พื้นที่สร้างเขื่อนมีขนาดเพียง 0.1% ของผืนป่าตะวันตก ใหญ่กว่าสาทรที่เป็นเขตเล็กๆ ในกรุงเทพมหานครเพียง 2 เท่า ทุกฝ่ายควรมุ่งไปที่การแก้ปัญหาทำลายป่าและปลูกป่าในพื้นที่เขาหัวโล้นมากมายที่ป่าไม้ถูกทำลายในผืนป่าตะวันตกนี้

2. สภาพป่าที่เห็นอยู่ทุกวันนี้เป็นป่าปลูกที่เพิ่งขึ้นใหม่เพื่อ "สร้างภาพ" ว่าเป็นป่าสมบูรณ์ ต้นไม้มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเล็ก ต้นไม้ใหญ่ก็มีอยู่น้อย บางส่วนเป็นตอไม้ที่ถูกตัดไม้มาหลายรุ่นแล้ว (ดูคลิปที่ bit.ly/1KPNpdm) ปริมาณไม้ที่สูญเสียไปมีค่าน้อยกว่าค่าก่อสร้างเขื่อนมาก และยังสามารถนำมาชดเชยค่าก่อสร้างได้

3. บ้างก็เข้าใจผิดว่าที่แก่งลานนกยูงมีนกยูงธรรมชาติอาศัยอยู่ทั้งที่เพิ่งนำมาเลี้ยง 'สร้างภาพ' เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง (ดูหลักฐานที่ on.fb.me/1KjBCUK) บ้างก็กลัวว่าจะทำร้ายสัตว์ป่าเช่นเสือซึ่งเป็นเรื่องเท็จ เพราะในพื้นที่สร้างเขื่อนยังมีจุดกางเตนท์ โดยรอบก็มีบ้านอยู่ทั่วไป ไม่เคยมีชาวบ้านพบเห็นเสือเลย (โปรดดู bit.ly/1VZab1S bit.ly/1jttgO9 และ bit.ly/1VYQE1u) มีแต่ข้อมูลด้านเดียวของผู้ค้านเขื่อนซึ่งอาจบิดเบือน เสือตัวเล็กๆ เช่นนี้คงไม่สามารถเดินออกจากป่าลึกมาถึงพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์

4. บ้างก็เข้าใจว่าป่าเป็นที่เก็บน้ำถาวรทั้งที่เกิดน้ำป่าไหลหลากประจำ เขื่อนต่างหากที่เป็นที่เก็บน้ำถาวรได้ยาวนานนับร้อยปี แต่กลับถูกบิดเบือน ทั้งที่ทั่วโลกกำลังสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้น (bit.ly/1VYbyDu) เขื่อนเป็นนวัตกรรมเพื่อมนุษยชาติตั้งแต่สมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ (on.fb.me/1PLuKMw)

5. บ้างยังถึงขนาดบิดเบือนว่ามีโบราณสถานในพื้นที่สร้างเขื่อน ทั้งที่เป็นเพียงซากของสิ่งบูชาของชาวเขาที่ได้รับการโยกย้ายออกนอกพื้นที่เพื่อการสร้างเขื่อนเมื่อราว 30 ปีก่อน (bit.ly/1Prlq4r)

6. มีการใช้ความกลัวว่าหากมีการตัดไม้ทำเขื่อน จะตัดเกินไปบ้าง จะมีคนแอบล่าสัตว์ป่าบ้าง แต่ความจริงสามารถควบคุม/ตรวจสอบได้ ในทางตรงกันข้ามการปล่อยทิ้งรกร้างไว้โดยขาดการเหลียวแล อาจเปิดช่องให้แอบตัดไม้ทำลายป่าโดยเจ้าหน้าที่เช่นที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ (bit.ly/1SPdr3x และ bit.ly/1Tkdeoy เป็นต้น)

หากสามารถก่อสร้างเขื่อนได้ จะเป็นประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ ดูเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนรัชชประภา ฯลฯ โดยจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อ

1. ป่าไม้ การที่จะมีผืนน้ำ 13,000 ไร่มาหล่อเลี้ยงแทนคลองเล็กๆ ในพื้นที่ ก็มีน้ำไว้ดับไฟป่าที่เกิดขึ้นนับร้อยครั้งต่อปี (bit.ly/1U21Xsf) การนำพื้นที่ 0.1% ของผืนป่ามาทำเขื่อน ก็จะยิ่งทำให้ป่าไม้ขยายตัว

2. สัตว์ป่า เมื่อป่ารกชัฏ ก็จะมีอาหารให้สัตว์ป่าอยู่ได้มากขึ้น สัตว์ป่าก็จะยิ่งมีมากขึ้นอีก

3. ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการป้องกันน้ำท่วม แก้ปัญหาภัยแล้ง มีระบบชลประทานที่ดี สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งขณะนี้ธนาคารโลกก็สนับสนุนเพราะลดโลกร้อน รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ในการทำน้ำประปา ประมง และท่องเที่ยว เป็นต้น

ความสูญเสียจากการไม่มีเขื่อนแม่วงก์นั้นมีมหาศาล ประชาชนต้องขุดบ่อบาดาลเอง โดยเสียค่าใช้จ่ายนับหมื่นๆ บาท น้ำที่ได้ก็มีสนิม ไม่อาจดื่มได้ (goo.gl/7h8Ljk) ในกรณีน้ำท่วม ชาวนาก็ต้องรีบเกี่ยวข้าวขายขาดทุนเหลือเกวียนละ 3,000-4,000 บาท แต่ละปีรัฐบาลต้องชดเชยให้ประชาชนในพื้นที่จากภัยแล้งและน้ำท่วมหลายร้อยล้านบาทต่อปี หากนำเงินเหล่านี้มาสร้างเขื่อนก็คงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ประชาชน ซึ่งหากประชาชนมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ก็ยิ่งจะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติได้มากกว่านี้

กลุ่มฯ จึงขอกราบเรียนนำเสนอนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้

1. ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งให้มีการสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่ายโดยด่วน

2. เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคม ให้มั่นใจในสิ่งที่กลุ่มฯ เสนอ รัฐบาลอาจสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมสื่อมวลชนให้เสร็จสิ้นใน 1 สัปดาห์โดยห้ามให้เอ็นจีโอหรือกลุ่มบุคคลอื่นใดใช้กฎหมู่ขัดขวางการตรวจสอบข้อเท็จจริง

3. ให้ทำประชามติเพื่อให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน โดยรัฐบาลสามารถใช้อำนาจทำให้การทำประชามตินี้บริสุทธิ์ยุติธรรม ปราศจากการขัดขวางโดยผู้ใด กลุ่มฯ เชื่อมั่นว่าประชาชนในพื้นที่ได้เรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นเองในการบริหารจัดการน้ำที่นำไปสู่การสร้างเขื่อนแม่วงก์ แทนการเสนอทางเลือกอื่น เช่นฝายที่เอ็นจีโอ เสนอเพื่อซื้อเวลา แต่ทำให้เป็นจริงไม่ได้ (bit.ly/1QBK1iX)

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ด้วยความเคารพ

(ดร.โสภณ พรโชคชัย)

ผู้ประสานงาน

กลุ่มสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อป่าไม้ สัตว์ป่าและประชาชน

ฝายและคลองส่งน้ำที่ NGOs เสนอเพื่อเบี่ยงเบนการสร้างเขื่อน เป็นสิ่งที่ไร้ประสิทธิภาพ

สภาพป่าไม่สมบูรณ์ในพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์

ไฟไหม้ป่าในพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์เกิดขึ้นเป็นประจำ

อ้างอิง: AREA แถลง ฉบับที่ 59/2559: วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559

ผู้แถลง:

ดร.โสภณ พรโชคชัย ([email protected]) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน