มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก สมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และ บริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด ร่วมกันจัดงานละครเวทีนิทานแสนสนุกแห่งปี เรื่อง ไดโนป่วนก๊วนหรรษา ตอน อลหม่านนิทานไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที 5 มุ่งส่งเสริมคุณค่าของวรรณคดีและนิทานพื้นบ้านไทย โดยนำตัวละครบางตัวจากหนังสือนามานุกรมวรรณคดีไทยที่เด็กๆชื่นชอบมาร่วมผจญภัยไปกับก๊วนไดโนเสาร์ทั้ง 12 ตัว ที่เป็นตัวละครจากหนังสือนิทานชุด ไดโนน้อยพัฒนานิสัยและไดโนน้อยพัฒนาอีคิว ซึ่งเป็นหนังสือดีสำหรับเด็ก 3-5 ปีและได้รับรางวัลชมเชยประเภทหนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี พ.ศ. 2555 และ พ.ศ. 2556 พร้อมทั้งได้รับการตีพิมพ์ในหลายประเทศ นอกจากความสนุกสนานที่เด็กๆจะได้รับแล้ว ยังสอดแทรก เรื่อง การอ่านอย่างรู้คุณค่า เพื่อสร้างนักอ่านตัวน้อยที่มีคุณภาพและรักการอ่านอย่างแท้จริง
ด้วยแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนโลกแห่งการอ่านให้เติบโตและงอกงามในหัวใจของเด็กๆ คุณริสรวล อร่ามเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด เผยที่มาของการทำละครว่า
แรกเริ่มเดิมทีเราได้ทำหนังสือชุดพัฒนาทักษะทางอารมณ์ EQ ซึ่งนำคาแรคเตอร์ของไดโนเสาร์มาเป็นตัวเดินเรื่อง โดยจะสะท้อนอุปนิสัยของเด็กผ่านลูกไดโนเสาร์ตัวน้อยที่สร้างปัญหาให้กับพ่อแม่และเพื่อนๆแตกต่างกันไป เช่น เป๋อเหลอขี้กลัว บึ๊กซ่าขี้โมโห ติ๊ดตี่ขี้แย แต่บทเรียนที่เหล่าไดโนน้อยได้รับทำให้พวกเขากลับตัวกลับใจ และกลายเป็นเด็กดีในที่สุด ผลตอบรับ คือ พ่อแม่นำไปใช้แล้วได้ผลดีกับลูกและเกิดกระแสเรียกร้องอยากเจอไดโนตัวเป็นๆ จึงเกิดไอเดียของการทำละคร เพื่อให้เด็กๆได้สัมผัสกับไดโนที่เป็นขวัญใจของเขา
ในละครชุดแรกยังไม่ได้หยิบตัวละครอื่นๆเข้ามาซึ่งตอนแรกมีชื่อว่า ไดโนป่วนก๊วนหรรษา ตอน ตะลุยเกาะมะลึกกึ๊กกึ๊ย ซึ่งหยิบคาแรคเตอร์ของไดโนน้อยแต่ละตัวมาพล๊อตเรื่องว่ามีเหตุโกลาหลที่เหล่าไดโนต้องไปช่วยคุณปู่ตุ้มตุ้ย ซึ่งไม่สบาย โดยต้องไปหาของวิเศษ 3 อย่าง ตอนนั้นเรารู้สึกว่า การทำละครต้องทำให้เด็กเห็นแล้วรู้สึกว่าอยากดูต่อ เรื่องต้องสนุก ตื่นตาตื่นใจ ชวนติดตาม ไม่น่าเบื่อ ละครเรื่องแรกได้รับการตอบรับที่ดี พอปีที่ 2 ไดโนป่วนก๊วนหรรษา ตอน นิทานชวนฝันบรรลือโลก เราพล๊อตเรื่องให้เจอกับตัวเอกในเทพนิยาย เช่น เจ้าชายกบ ซินเดอร์เรลร่า หนูน้อยหมวกแดง แม่มด สุนัขจิ้งจอก พอปีที่ 3 ไดโนป่วนก๊วนหรรษา ตอน ตะลุยเมืองนิทานเพื่อนรัก เนื่องจากว่าบริษัทมีโครงการนิทานเพื่อนรัก เราจึงหยิบตัวละครในนิทานเพื่อนรักมาทำ ในปีนี้เราจะเริ่มใส่ดนตรีประกอบเยอะขึ้น มีเพลงน่ารักๆมากมาย มาถึงปีที่ 4 ไดโนป่วนก๊วนหรรษา ตอน ตะลุยดาวน้อยสีน้ำเงิน เนื่องจากเรามีหนังสือซึ่งสอนเด็กๆให้รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเน้นเรื่องของการ ไม่ตัดต้นไม้ทำลายป่า ไม่ทิ้งขยะ คือทุกครั้งที่เราทำนิทาน เราจะแฝงอะไรบางอย่างอยู่กับตัวเด็ก ในปีนี้เป็นปีที่ 5 ไดโนป่วนก๊วนหรรษา ตอน อลหม่านนิทานไทย ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่เล็งเห็นคุณค่าของหนังสือ จึงทำให้ก๊วนไดโนจอมป่วนบังเอิญหลุดเข้าไปสู่อาณาจักรข้ามมิติ ถ่ายทอดการแสดงผ่านละครนิทานไทยเพื่อให้เด็กๆได้รู้จักวรรณคดีและนิทานพื้นบ้านเรื่องเด่น อันเป็นเครื่องแสดงถึงความรุ่มรวยทางภาษา อัจฉริยภาพของผู้ประพันธ์และวิถีชีวิตของคนไทยแต่ละยุคสมัยในอดีต ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกรักและหวงแหนในสมบัติอันล้ำค่านี้ เพื่อช่วยกันธำรงรักษาไว้ให้คงอยู่สืบไป
ทุกวันนี้ความเป็นไทย เอกลักษณ์ที่มีเสน่ห์เฉพาะตนเริ่มจะเลือนลางหายไปในสังคมยุคใหม่ เราจึงอยากแนะนำตัวละครในวรรณคดีไทย ให้เด็กไทยได้สัมผัส เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจและหวงแหนศิลปะพื้นบ้านของไทย รวมทั้งปีนี้เป็นปีที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงเจริญพระชรรษา 60 ปี เลยคุยกับทางมูลนิธิสมเด็จพระเทพฯว่าจะทำอะไรเพื่อถวายท่าน ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางบริษัทได้ร่วมกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กทำหนังสืออกมาชุดนึง ซึ่งมาจากนามานุกรมวรรณคดีไทย อาทิ เรื่อง สังข์ทอง แก้วหน้าม้า กำเนิดหนุมาน กำเนิดพระสังข์ พระสุธนมโนราห์ และ สโนน้อยเรือนงาม เราหยิบตัวละครเหล่านี้มาพล๊อตเรื่อง และยังมีอีกเรื่องของเด็กโต เช่น สิงหไกรภพ สังข์ทอง ดาวีหลวิชัย สุดสาคร ซึ่งเราจะเลือกเรื่องที่เด็กสนใจ มีความเป็นแฟนตาซีหน่อย อย่างม้านิลมังกร นางยักษ์ นางเงือก พระสังข์ทอง ก็มาสร้างเป็นเรื่องราว ให้สนุก ก็เลยเกิดเป็นตอน อลหม่านนิทานไทย คุณริสรวล กล่าวเสริม
การนำเอาวรรณคดีมาสร้างเรื่องราวให้เด็กเล็กเข้าใจ ต้องมีวิธีการเล่าเรื่องที่พอดี ทางด้านผู้เขียนบทละคร มณิศา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา กล่าวไว้ว่า เด็กเล็กสามารถเข้าใจเรื่องราวต่างๆได้ดีจากการเห็นภาพและการใช้ภาษาท่าทาง ดังนั้นการเล่าเรื่องด้วยการแสดงบทบาทสมมติและบทพูดของตัวละคร จะช่วยสื่อสารให้เด็กๆเข้าใจได้ง่าย และสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับเรื่องราว ผนวกกับการเดินเรื่องที่กระชับ การสอดแทรกมุกตลก และแอคติ้งที่สนุกสนานของตัวละคร ทำให้เด็กอยากติดตามเรื่องราวอย่างไม่รู้เบื่อ รวมทั้งเนื้อหาที่สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมอย่างแยบยล ให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง การนำนิทานหลายเรื่องมาร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกันจำเป็นต้องเลือกเฉพาะตอนที่โดดเด่นมานำเสนอ เลือกฉากที่สนุกสำหรับเด็ก ตัวละครเอกมีบทบาทโดดเด่น ที่สามารถแสดงคาแรคเตอร์ของตัวเองได้อย่างชัดเจน เพื่อให้เด็กจดจำตัวละครตัวนั้นได้ สีสันของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และคาแรคเตอร์ของตัวละคร ที่มีความโดดเด่น แปลกตา เช่นตัวละครจากนิทานพื้นบ้าน และตัวละครไดโนเสาร์ที่เด็กๆ ชื่นชอบสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี
ด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการสร้างสรรค์ละครเวทีสำหรับเด็ก เพื่อให้เด็กๆได้รู้จักศิลปะอีกแขนงหนึ่ง ที่จะช่วยกล่อมเกลาจิตใจ ส่งเสริมจินตนาการและเป็นสื่อกลางในการปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกอันดีงาม ละครเวที ศาสตร์แห่งการเล่าเรื่องซึ่งอาศัยองค์ประกอบของศิลปะหลายแขนงเข้าด้วยกัน ด้าน สมเจตน์ ยามาเจริญ ผู้กำกับการแสดง พูดถึงความน่าสนใจของละครในปีนี้ คือ การนำนิทานพื้นบ้านของไทยที่ตัวละคร มีความหลากหลาย เช่น นางเงือก ม้านิลมังกร นางกินรี มาผสมผสานกับเรื่องราวของเหล่าไดโนน้อยทั้ง 12 ตัว ที่เด็กๆชื่นชอบ เพื่อปลูกฝังแง่คิดและแนะนำให้เด็กๆ ได้รู้จักกับวรรณคดีและนิทานพื้นบ้านไทย อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าซึ่งจะสะท้อนอยู่ในองค์ประกอบหลักของละคร นอกจากนี้เด็กๆจะตื่นตาตื่นใจกับฉากที่สะท้อนความเป็นไทยแบบดั้งเดิมของโลกนิทานพื้นบ้านด้วยน้ำทะเลแบบไทยๆ เถาวัลย์พงไพรแบบป่าหิมพานต์ สลับกับฉากโลกล้านปีของก๊วนไดโนเสาร์และความอลังการของฉากสระอโนดาต แห่งป่าหิมพานต์จากวรรณคดีเรื่องพระสุธน มโนห์รา รวมทั้งดนตรีประกอบละครยังคงไว้ซึ่งความเป็นไทย ในสไตล์ละครไดโนป่วนก๊วนหรรษาครับ
ภายในงาน มีฐานกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้ที่ช่วยปลูกจิตสำนึกเรื่องการอ่านอย่างรู้คุณค่า และเสริมสร้างพัฒนาการรอบด้านอย่างสร้างสรรค์ เริ่มจากฐานกิจกรรม ผจญภัยในป่าหิมพานต์ น้องๆ จะได้ตื่นตาตื่นใจกับความสวยงามของต้นไม้นานาพันธุ์ในป่าหิมพานต์จำลอง พร้อมกับช่วยนำไข่นกหัสดีลิงค์คืนสู่ป่า และนำลูกปลาคืนสระน้ำ นอกจากฐานกิจกรรมนี้แล้ว ยังมีฐานอยู่ไหนไดโนจ๋า ประดิษฐ์หมวกสุดเท่ นิทานเล่มจิ๋ว จ๊ะเอ๋ ใครเอ่ย และแชะ แชะ ไดโนป่วนอีกด้วย ซึ่งแต่ละฐานจะมีพี่ๆ ใจดีคอยดูแลอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ทางผู้จัดกิจกรรมยังเปิดโอกาสให้เยาวชนด้อยโอกาสจากมูลนิธิสิขาเอเชีย มูลนิธิเด็ก และมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมมาร่วมชมการแสดงอีกด้วย
การพาลูกมาดูละครจะเป็นเสมือนการจุดประกาย ให้เด็กอยากติดตามสืบค้นเรื่องราวในหนังสือต่อไป เด็กบางคนที่ชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว ถ้าเขาได้มาดูเขาจะเกิดแรงบันดาลใจที่จะไปสืบค้น ต่อยอดจินตนากการหลังการชมละคร เป็นการปลูกฝังลูกหลานให้เห็นคุณค่าของวรรณคดีไทยและสร้างนิสัยรักการอ่าน นอกจากนี้อยากให้หน่วยงานภาครัฐ หรือ ภาคเอกชน เข้ามามีส่วนสนับสนุนกิจกรรมตรงนี้ สิ่งสำคัญที่ยังอยากจะทำต่อเพราะเมื่อเห็นความสุขของเด็กๆ ซึ่งเป็นกำลังใจสำคัญที่อยากจะผลิตละครต่อ ก็ไม่คิดว่าจะหมดแรง และทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ คุณริสรวล กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit