กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี นำคณะครูต้นแบบดีเด่นจากโครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" จากภาคตะวันออกรวม 18 คน จัดกิจกรรม "ห้องเรียนเคมีดาวสัญจร" ให้แก่โรงเรียนที่ขาดโอกาสในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3 แห่ง ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ผ่านการทดลองจริง รวมทั้งมีแผนเผยแพร่และถ่ายทอดเทคนิคการปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) ให้แก่ครูและนักเรียนในทุกภาคทั่วประเทศในปีนี้อีกด้วย
นางภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เผยว่า กิจกรรม "ห้องเรียนเคมีดาวสัญจร" ในครั้งนี้ ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ในการให้ความสำคัญด้านการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM (Science, Technology, Engineering & Mathematics Education) รวมถึงการส่งเสริมทักษะและความรู้ความสามารถของบุคลากรครูเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่เยาวชนมาโดยตลอด โดยครูจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สนับสนุนให้เยาวชนรู้จักคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรอง และนำความรู้และประสบการณ์จากการทดลองจริงมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้"เราเชื่อมั่นว่าวิทยาศาสตร์เป็นรากฐานของการต่อยอดการพัฒนาด้านนวัตกรรม และเป็นศาสตร์ที่สำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ในปีนี้เราได้ตั้งเป้าหมายในการขยายพื้นที่การเผยแพร่เทคนิคการปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนให้แก่ครูและนักเรียนในทุกภาคทั่วประเทศ จากที่ได้นำร่องโครงการในจังหวัดระยอง และขยายสู่ภาคตะวันออกในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อทลายข้อจำกัดในการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านความพร้อมของห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ สารเคมี ไปจนถึงการเตรียมการสอน" นางภรณีกล่าว
นางพนิตตา วสุนันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสุทธาวาส เผยว่า "โรงเรียนวัดสุทธาวาสเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูวิชาวิทยาศาสตร์อยู่เพียงท่านเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ โรงเรียนมีข้อจำกัดด้านต้นทุนในการสอน เช่น การจัดซื้ออุปกรณ์การทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีราคาแพง ทำให้นักเรียนขาดโอกาสในการปฏิบัติการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในห้องเรียน การที่นักเรียนได้มีโอกาสทำการทดลองผ่านเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนในครั้งนี้จึงมีประโยชน์อย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้นักเรียนสนุกกับการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้นแล้ว นักเรียนยังให้ความสนใจกับกระบวนการทดลองเพื่อพิสูจน์ผลทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย"
สำหรับโรงเรียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทั้ง 3 แห่ง ที่คณะครูต้นแบบฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อขยายเครือข่ายการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ผ่านการทดลองจริงโดยใช้เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน ได้แก่ โรงเรียนวัดสุทธาวาส โรงเรียนวัดปิ่นแก้ว และโรงเรียนวัดแก้วสุวรรณ ซึ่งการทดลองที่ครูและนักเรียนทั้งสามโรงเรียน รวมจำนวน 375 คน ได้เรียนรู้ในครั้งนี้ ได้แก่ การทดลองเรื่องก๊าซมีปริมาตร การระเบิดของไฮโดรเจน และระบบการกรองน้ำ ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนนี้ นอกจากจะให้ความรู้แก่นักเรียนผ่านการทดลองที่ง่าย มีความปลอดภัยสูง และเห็นผลเร็วแล้ว นักเรียนยังได้รับความสนุกจากการนำวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ในชีวิตประจำวันมาใช้
"ความท้าทายในการสอนวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่บุคลากรทางการศึกษาต่างพบเจออยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือและห้องทดลองที่ไม่เพียงพอและมีราคาแพง การเตรียมการทดลองและการประเมินผลที่ต้องใช้เวลามาก รวมไปถึงปัจจัยด้านความปลอดภัยจากการทดลอง เทคนิคการปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนจึงตอบโจทย์ด้านความท้าทายของการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ และจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับทั้งครูและนักเรียน เนื่องจากใช้วัสดุที่หาได้ง่ายมาเป็นเครื่องมือในการทดลอง ใช้งบประมาณไม่สูง ลดปริมาณการใช้สารเคมีในการทดลอง และมีความปลอดภัยทั้งต่อครูและนักเรียน" ศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกกิตติคุณ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ และผู้อำนวยการโครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit