สำหรับกองทุนเปิดเค ไทย เฟล็กซิเบิ้ล ทริกเกอร์ 5 (KTFT5) มีนโยบายเน้นการลงทุนในหุ้นไทย แต่สามารถลงทุนในตราสารหนี้หรือเงินฝากได้ โดยผู้จัดการกองทุนสามารถปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นได้ตั้งแต่ 0%-100% ตามสภาวะตลาดที่เหมาะสมในแต่ละขณะ โดยกองทุนมีเป้าหมายผลตอบแทนของกองทุนอยู่ที่ 5%* ภายในระยะเวลา 1 ปี พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนรับผลตอบแทน 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ เมื่อหน่วยลงทุนมีมูลค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 10.20 บาท ต่อหน่วย หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนประมาณ 2.0% และครั้งที่ 2 จะรับซื้อคืนโดยอัตโนมัติเมื่อหน่วยลงทุนมีมูลค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 10.70 บาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนอีกประมาณ 3.0%* (หมายเหตุ: *เป็นเพียงเป้าหมายการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนทั้งหมดเพื่อเลิกกองทุนเท่านั้น ไม่ใช่ตัวประมาณการหรือรับประกันอัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงอาจจะได้ผลตอบแทนต่ำกว่าที่อ้างถึง)
ด้านมุมมองการลงทุนในหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ บลจ.กสิกรไทยคาดว่าดัชนีหุ้นไทยในระยะสั้นจะยังคงได้รับแรงกดดันจากความผันผวนในตลาดโลก และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศซึ่งต้องจับตามองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนได้มากน้อยเพียงใด ประกอบกับในช่วงเกือบ 4 เดือนแรกของปี 59 ที่ผ่านมา ตลาดได้มีการปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างมาก ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในรายกลุ่มอุตสาหกรรม ยังคงเน้นการลงทุนในกลุ่มที่ผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตอย่างมั่นคง กลุ่มที่จ่ายเงินปันผลในระดับดีและกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐบาล อาทิ วัสดุและรับเหมาก่อสร้าง ขนส่งและท่องเที่ยว เนื่องจากมองว่าเป็นกลุ่มที่สามารถขยายตัวได้ดี ทั้งนี้สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในระยะยาว อาจอาศัยจังหวะในช่วงที่หุ้นปรับฐานลงมา โดยสามารถเข้าสะสมในหุ้นไทยเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนในระยะยาวได้
นางสาวธิดาศิริกล่าวเพิ่มเติมว่า "บลจ.กสิกรไทยยังคงมองเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปลายปี 2559 ที่ระดับ 1,450 ด้วยอัตราส่วน Forward P/E ที่ประมาณ 15.5 เท่า โดยปัจจัยสนับสนุนหลักที่จะต้องติดตามคือการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของรัฐบาล และนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐฯ ที่ยังเป็นความหวังที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่อาจสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง หนี้เสียในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ยังคงเพิ่มขึ้น ตัวเลขการส่งออกที่ชะลอลง รวมถึงปัญหาภัยแล้ง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศที่นักลงทุนต้องติดตาม คือ การปรับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าเงินในสกุลหลักต่างๆ"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit