นายวีระ กล่าวต่อว่า คณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปาก ได้ลงพื้นที่สำรวจใน 4 เมือง คือกรุงกาฐมัณฑุ เมืองปัคตาปูร์ เมืองลลิตปูร์ และเมืองกีรติปูร์ เบื้องต้นได้มีการเข้าตรวจสอบประเมินความเป็นไปได้ในการให้ความช่วยเหลือด้านการบูรณะยังแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1.สวยมภู 2 แห่ง คือ สันติวิหาร และอนันทปุระ 2.เมือง Patan - Lalitrapur 3 แห่ง คือ มหาพุทธะ วัดเงิน และวัดทอง และ 3.เมือง Kirtipur 1 แห่งคือ สถูปจรัญโช โดยได้ศึกษาลักษณะรูปแบบของขอบเขตความเสียหายขั้นต้นของโบราณสถาน เปรียบเทียบรูปแบบสถาปัตยกรรม วัสดุและเทคนิคการก่อสร้าง เพื่อกำหนดแนวทางขั้นต้นในการฟื้นฟูสภาพและรับฟังสภาพการณ์ทั่วไปของปัญหา อุปสรรคและรายละเอียดการขอรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการอนุรักษ์ศาสนสถานแห่งต่างๆ ที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงประชุมคณะผู้แทนไทยเพื่อวิเคราะห์สรุปแนวทางในการ ให้ความช่วยเหลือ เสนอต่อที่ประชุมซึ่งสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะจัดขึ้นช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้
นายวีระ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติให้กรมศิลปากร กลับไปจัดทำแผนการบูรณะและงบประมาณที่ใช้อย่างละเอียดซึ่งเบื้องต้นคาดว่าทั้ง 6 แห่งใช้งบประมาณราวๆ 60 ล้านบาท นอกจากนี้มอบหมายให้มีการสำรวจแหล่งโบราณสถานที่จะเสนอแผนขอบูรณะเพิ่มจาก 6 แห่งด้วยเนื่องจากมีแหล่งโบราณสถานเสียหายเป็นจำนวนมาก การดำเนินการเสนอให้บูรณะโบราณสถานทั้ง 6 แห่งข้างต้น เนื่องจากเป็นศาสนสถานที่มีความสำคัญในพระพุทธศาสนา เนปาลเป็นสถานที่กำเหนิดของพระพุทธศาสนาและที่ผ่านมา รัฐบาลและคนไทย ร่วมกันช่วยเหลือเนปาลมาตลอด นอกจากนี้การบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานครั้งนี้ จะงสร้างประสบการณ์ให้กับช่างไทยและได้ศึกษาเรียนรู้การบูรณะโบราณสถานของแต่ละชาติ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการบูรณะโบราณ รวมถึงการแสดงบทบาทในการอนุรักษ์ศาสนสถานของไทยและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศด้วย