พลเอก ธนะศักดิ์ กล่าวต่อว่า เงื่อนไขในส่วนของภาพยนตร์เจ้าของลิขสิทธิ์ของภาพยนตร์เป็นชาวต่างชาติและเป็นภาษาต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ทั้งนี้ สำหรับสัดส่วนการคืนเงินตามหลักเกณฑ์ แบ่งออกเป็น 1) เงื่อนไขหลักเกณฑ์ทั่วไป คือผู้ผลิตภาพยนตร์ชาวต่างชาติที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไปได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร ขอคืนเงิน 15 % และ2) เงื่อนไขเพิ่มเติม คืนเงินเพิ่มสูงสุดอีก 5% แบ่งเป็น หากจ้างแรงงานไทยซึ่งเป็นหลักในกองถ่ายทำภาพยนตร์ ขอคืนได้ 3% และหากบทภาพยนตร์ที่ขอรับการสนับสนุนพิสูจน์จากคณะกรรมการฯ ว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว วัฒนธรรมหรือภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ขอคืน 2% ทั้งนี้ การจำกัดวงเงินจ่ายคืนตามมาตรการ ไม่เกิน 75 ล้านบาท ส่วนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบและมอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป โดยจะนำเรื่องดังกล่าวไปประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการภาพยนตร์ในต่างประเทศทราบ ภายในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 -22 พฤษภาคม 2559 นี้ พลเอก ธนะศักดิ์ กล่าวตอนท้ายว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ กองทุนจะสนับสนุนอุตสาหกรรมทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การเผยแพร่ การตลาด การพัฒนาบุคลากร รวมถึงจัดสวัสดิการดูแลศิลปินที่เดือดร้อนและเรื่องอื่นๆ ซึ่งหากกองทุนนี้ได้รับการจัดตั้งฯ แล้ว จะช่วยยกระดับและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยเป็นอย่างมาก