ในที่ประชุมดังกล่าว ประเทศสมาชิกบางประเทศโดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรป ยังคงมีท่าทีไม่เห็นด้วย และต้องการให้กำหนดค่า ML ที่ต่ำกว่า คือ ระดับ 0.25 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายของสหภาพยุโรปที่ประกาศใช้แล้ว ซึ่งมติที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า มาตรฐานสารหนูอนินทรีย์ในข้าวกล้องที่กำหนดไว้ 0.35 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เหมาะสมทั้งในด้านความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ และการคุ้มครองผู้บริโภค และจะทบทวนมาตรฐานนี้ในอนาคตอีกครั้ง หลังจากใช้มาตรฐานหลักปฏิบัติสำหรับป้องกันและลดการปนเปื้อนสารหนูในข้าวไปแล้วเป็นระยะเวลา 3 ปี
นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า "การที่คณะกรรมการโคเด็กซ์ได้ประกาศใช้ค่า ML ของสารหนูอนินทรีย์ในข้าวกล้องไม่เกิน 0.35 มิลลิกรัม/กิโลกรัม คาดว่า จะเอื้อประโยชน์ต่อไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายหลักของโลก ซึ่งค่า ML ดังกล่าว เป็นค่าที่ผู้ประกอบการของไทยสามารถปฏิบัติตามได้และมีระดับการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม ขณะที่ข้อมูลการสำรวจการปนเปื้อนสารหนูในข้าวกล้องของไทยพบในระดับต่ำกว่า 0.35 มิลลิกรัม/กิโลกรัม คาดว่า จะช่วยการันตีคุณภาพและสามารถสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของสินค้าข้าวกล้องไทยให้กับประเทศคู่ค้าได้เพิ่มมากขึ้น"
ก่อนหน้านี้ โคเด็กซ์ได้ประกาศกำหนดค่า ML ของสารหนูอนินทรีย์ในข้าวขาวหรือข้าวขัดสี เป็นมาตรฐานกลางในการซื้อขายสินค้าข้าวเมื่อปี 2557 โดยกำหนดให้ไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม การประกาศใช้ค่า ML ของสารหนูอนินทรีย์ในข้าวกล้องตามที่ไทยเสนอ จะช่วยตอกย้ำความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและประเทศนำเข้าข้าวทั่วโลกว่า ข้าวไทยปลอดภัยและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานระดับสากล
ทั้งนี้ ข้าวขาวและข้าวกล้องเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพการผลิตและส่งออกสูง โดยปี 2558 ที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกข้าวขาว ปริมาณ6.25ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 110,000 ล้านบาท ส่วนการส่งออกข้าวกล้องมีปริมาณ 140,000 ตัน มูลค่าประมาณ 2,800 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง แคนาดา และสิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งปีการผลิต 2558/59 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีผลผลิตข้าวรวม 27 ล้านตันข้าวเปลือกขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าการส่งออกสินค้าข้าวปี 2559 ไว้ จำนวน 9 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ