ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โดยในปี 2558 ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต หรือ S-Curve ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 2 รูปแบบ ด้วยกันคือ 1.การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 2.การพัฒนา 5 อุตสาหกรรมอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีบทบาทในการช่วยส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานตลอดจนการอำนวยความสะดวกรวมถึงให้คำปรึกษาในการจัดตั้งและขยายโรงงานดังกล่าวให้เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
ดร.พสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยล่าสุดจากสถิติการจดประกอบกิจการและการขยายโรงงานเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2557 – 26 เมษายน 2559 พบว่า 4 ประเภทอุตสาหกรรมดังกล่าว มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมมูลค่าลงทุนกว่า 245,383.34 ล้านบาท ได้แก่
1. อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร มีจำนวนโรงงานที่จดประกอบและขยาย จำนวน 985 โรงงาน มีการใช้แรงงานจำนวนมาก มีมูลค่าการลงทุนปี 2557-2559 กว่า 117,019.46 ล้านบาท และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงโดยกลุ่มจังหวัดที่มีขยายตัว อาทิ จังหวัดสมุทรสาคร ปทุมธานี และกรุงเทพฯ
2. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มีจำนวนโรงงานที่จดประกอบและขยาย จำนวน 307 โรงงาน ถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทยกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีมูลค่าถึง 5.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดย กลุ่มจังหวัดที่มีขยายตัว อาทิ สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร
3. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีจำนวนโรงงานที่จดประกอบและขยาย จำนวน 275 โรงงาน โดยกลุ่มจังหวัดที่มีขยายตัว อาทิ จังหวัดชลบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ
4. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ มีจำนวนโรงงานที่จดประกอบและขยาย จำนวน 52 โรงงาน โดยจังหวัดที่มีการเติบโต อาทิ อ่างทอง นครสวรรค์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และแขนกล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในกลุ่ม News S-Curve ปัจจุบันมีการจดประกอบโรงงาน จำนวน 11 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุนรวม 302.33 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลประชากรศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวนรวม 20 จังหวัด มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนมากที่สุด มีจำนวนแรงงาน 321,855 ราย โดย ปี 2557-2559 มีโรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 จดประกอบกิจการจำนวน 1,698 โรงงาน โดยจังหวัดที่มีการจดประกอบกิจการเพิ่มขึ้น 5 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ ตามลำดับ และมีกลุ่มประเภทโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และแปรรูปอาหาร ดร.พสุ กล่าวทิ้งท้าย
ดร.พสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลมีนโยบายให้การพิจารณาอนุญาตโรงงานทุกประเภทรวมถึงโรงงานกลุ่ม S-Curve มีความสะดวกโดยที่ผ่านมามีการปรับปรุงขั้นตอนการอนุญาตเพื่อลดระยะเวลาในการออกใบอนุญาต จากเดิม 90 วัน เป็น 30 วัน พร้อมทั้งให้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการ และมีนำระบบ IT ในการบริหารจัดการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศกรณีมีปัญหาการขออนุญาตต่างๆ อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานฯ ยังให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลภายหลังการอนุญาตเพื่อรักษามาตรฐานการดำเนินการสำหรับการพิจารณาอนุญาตไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และเพื่อให้เกิดการกระตุ้นและส่งเสริมการจัดตั้งโรงงาน กรมโรงงานฯ จะส่งเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงงานเพื่อรับฟังและให้คำปรึกษาแนะนำการแก้ไขปัญหาเพื่อสนับสนุนการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการในการขยายโรงงานสนองตามนโยบายของรัฐบาล
ด้าน นายพรเทพ ศักดิ์สุจริต กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุดรมาสเตอร์เทค จำกัด กล่าวว่า บริษัท อุดรมาสเตอร์เทค จำกัด เริ่มต้นอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบันดำเนินธุรกิจก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 20 และได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามาโดยตลอด ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและการบริการที่ดี บริษัทฯ มีพื้นที่สายการผลิตที่เป็นห้องสะอาด (Clean Room 10k) 1,255 ตารางเมตร พื้นที่รวม 3,300 ตารางเมตร บนเนื้อที่โรงงานกว่า 17 ไร่ และเงินลงทุนรวม 10 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทฯ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในระบบเซนเซอร์เบรคในรถยนต์และผลิตแผงวงจรชนิดยืดหยุ่น ที่มีการขยายตัวทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นผู้วิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้าของบริษัทด้วยระบบการบริหารงานอย่างมืออาชีพ
นายพรเทพ กล่าวต่อว่า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ Hard disk Drive ในปี 2558 มีการผลิตประมาณ 4,316,971 ชิ้น/เดือน และชิ้นส่วน Automotive Part มีการผลิตประมาณ 4,282,120 ชิ้น/เดือน โดยบริษัท อุดรมาสเตอร์เทค จำกัด เป็นผู้ผลิตและส่งสินค้าไปยังบริษัท เม็กเท็คแมนูแฟ็คเชอริ่ง คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย)จำกัด ซึ่งมีการทำธุรกิจยาวนานมาเป็นระยะเวลา 20ปี และมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ อาทิ เยอรมัน เม็กซิโก อเมริกา บราซิล จีน มาเลเชีย ญี่ปุ่น เป็นต้น เพื่อนำชิ้นส่วนในระบบเซนเซอร์เบรครถยนต์ไปประกอบในแบรนด์รถยนต์ค่ายต่างๆ เช่น โฟล์คสวาเกน วอลโว่ คอนติเนนทอล เดมเลอร์ เบนซ์ เป็นต้น และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ Hard disk Drive ส่งชิ้นส่วนผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้บริษัทรายใหญ่ในประเทศไทย อาทิ SEAGATE และ NIDEC เป็นต้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายในปี 2560 และในอนาคตบริษัทฯ จะมีผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัทเองและมีการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้ในการทำจอ LED และหลอดไฟ LED ด้วยตัวเอง พร้อมนำระบบ Automation มาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย และจะมีการเพิ่มจำนวนลูกค้าจากเดิม
ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ตรวจโรงงานเพื่อดูความพร้อมและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ณ บริษัท อุดรมาสเตอร์เทค จำกัด ตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ กลุ่มประชาสัมพันธ์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4007, 0 2202 4014 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล์ [email protected]
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit