พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ภายหลังจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้ให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการดังกล่าว และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ให้ความเห็นชอบการดำเนินโครงการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการจ้างประกวดราคาประมูลการก่อสร้างและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในต้นปี 2560 ที่จะถึงนี้
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภค และบริโภค บนพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้ดำเนินการ กรมชลประทานจึงเริ่มพิจารณาโครงการและจัดทำรายงานเบื้องต้น โดยตามแผนเดิมกำหนดความจุอ่างเพียง 27 ล้าน ลบ.ม. เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งอย่างเดียว โดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางพิเศษ ปริมาตรความจุ 96 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เขื่อนหัวงานเป็นชนิดคอนกรีตบดอัด (RCC: RollerCompacted Concrete)ความกว้างสันเขื่อน8.00 เมตร ความยาวสันเขื่อน 810 เมตร สูง54 เมตร หัวงานเขื่อนตั้งปิดกั้นลำน้ำปี้ที่บริเวณหมู่ 3 บ้านปิน ต.เชียงม่วน อ.เชียงม่วน ขณะที่พื้นที่อ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่จะอยู่ในเขต ต.เชียงม่วน และมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขต ต.บ้านพี้ และ ต.สวด อ.บ้านหลวง จ.น่าน ส่วนระบบชลประทานเป็นระบบท่อ ความยาวรวม 75 กิโลเมตร ใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 3,981 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2564
"หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานของโครงการ บริเวณอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา จำนวน 28,000 ไร่ และส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่น้ำยมในช่วงฤดูแล้งได้อีกถึง 35,000 ไร่ รวมทั้งมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากถึง 55,000 ไร่ ครอบคลุม 7,153 ครัวเรือน 34 หมู่บ้าน ใน 3 ตำบลของ อ.เชียงม่วน จังหวัดพะเยาประกอบด้วย ต.เชียงม่วน ต.บ้านมาง ต.สระ และบริเวณท้ายน้ำของแม่น้ำยม ซึ่งตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างหนักในช่วงฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วง"
ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ เป็นโครงการที่ราษฎรในเขต อ.เชียงม่วน ร้องเรียนขอความช่วยเหลือมาตั้งแต่ปี 2519 เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกอย่างหนักในช่วงฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วง แต่จากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยมขึ้นมาหลายครั้ง โดยเฉพาะเหตุอุกทกภัยเมื่อปี 2554 กรมชลประทานจึงได้ศึกษาทบทวนเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อช่วยตัดยอดน้ำที่จะไหลบ่าลงสู่ลุ่มน้ำยมตอนล่างในช่วงฤดูฝนเพื่อป้องกันน้ำท่วมได้อีกประมาณเกือบ 100 ล้าน ลบ.ม. ตามแผนโครงการในปัจจุบัน
"ดังนั้น เมื่อการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จจึงไม่ใช่เพียงแค่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนจำนวนกว่า 7 พันครัวเรือนใน อ.เชียงม่วน เท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยในการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างบางส่วน และอาจรวมถึงการผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคตได้อีกด้วย" อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit