นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) อำนวยการติดตาม ซักซ้อมการเฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง ครั้งที่ 17/2559 กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง มีจังหวัดประกาศเขต การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 31 จังหวัด 195 อำเภอ 943 ตำบล 7,566 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 10.09 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค 11 จังหวัด จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตร 8 จังหวัด และจังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 12 จังหวัด รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเน้นการแจกจ่ายน้ำ เติมน้ำในภาชนะกลางสำหรับให้ประชาชนใช้อุปโภคบริโภค รวมถึงปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เหนือเขื่อนช่วงที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย อีกทั้งจากการติดตามข้อมูลสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2559 โดยในช่วงต้นฤดูฝนจะมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2559 ปริมาณฝนมีแนวโน้มใกล้เคียงกับค่าปกติ นอกจากนี้ จากการติดตามสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุบลรัตน์ ภูมิพล สิริกิติ์ และแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาไม่มีน้ำไหลเข้ามาเติมปริมาณน้ำในเขื่อน ในขณะที่ยังคงต้องระบายน้ำออกสำหรับจัดสรรให้ประชาชนใช้ในกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำจะลดลงใกล้ระดับกักเก็บต่ำสุดในเดือนกรกฎาคม 2559 และอาจต้องนำน้ำสำรองที่อยู่ก้นเขื่อนมาใช้งาน จึงยังคงต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสงวนน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ สำหรับเกษตรกร ให้ติดตามประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อวางแผนทำการเพาะปลูกได้สอดคล้องกับสภาพอากาศและปริมาณน้ำในพื้นที่ ป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน สำหรับสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและสารสนเทศ พบว่า สถานการณ์ไฟป่าในภาคใต้และภาคเหนือมีแนวโน้มดีขึ้น โดยยังคงเหลือจุดความร้อนและมีไฟป่ากระจายตัวในบางพื้นที่ กอปภ.ก. จึงได้ประสานให้หน่วยงาน ในพื้นที่เร่งปฏิบัติการดับไฟป่าทั้งทางภาคพื้นดินและอากาศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ขยายวงกว้างมากขึ้น ส่วนจุดที่สามารถควบคุมเพลิงในวงจำกัดได้แล้ว ให้ยังคงจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการจุดไฟในพื้นที่ป่า เพื่อป้องกันมิให้ไฟเกิดการปะทุซ้ำ0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit