จุดจบโลก ณ วันนี้…และในวันนั้น
การทำหนังภาคต่อจากหนังที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ชื่อเสียงและรายได้อย่าง X-MEN: DAYS OF FUTURE PAST ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งกว่านั้นเป้าหมายของทีมงานคือการไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่ความคาดหวังจากหนังภาคก่อน แต่ทำให้เหนือกว่านั้น "เราได้พบความท้าทายอย่างแท้จริงในการคิดหาเรื่องราวที่ไปไกลกว่า DAYS OF FUTURE PAST ในแง่ความยิ่งใหญ่และเดิมพันที่สูงกว่าเดิม" ไซมอน คินเบิร์ก มือเขียนบทและผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้กล่าว
ในที่สุดทีมงานก็ค้นพบแนวทางการสร้างสรรค์เรื่องราวด้วยการตัดสินใจให้ศัตรูในหนังภาคใหม่นี้เป็นมนุษย์กลายพันธุ์ตัวร้ายที่ทรงพลังที่สุดในจักรวาลของเอ็กซ์เม็น "อะพอคคาลิปส์สร้างภัยคุกคามระดับจักรวาล และความยิ่งใหญ่นั้นเองที่ดึงดูดผมและไบรอัน ซิงเกอร์" คินเบิร์กเสริม
แน่นอนว่าการที่ซิงเกอร์รับตัวละครนี้เข้ามาถือเป็นเรื่องสำคัญ เขาเป็นผู้ปัดฝุ่นหนังจากหนังสือคอมิกจนกลายมาเป็นหนังแบบที่เรารู้จักกัน เริ่มต้นจากความสำเร็จของ X-MEN ภาคแรกในปี 2000 ตามมาด้วยหนังทำเงินอย่าง X2 ในปี 2003 ซิงเกอร์ได้ผสมผสานหนังดรามาที่ขับเคลื่อนด้วยตัวละคร หนังไซไฟ หนังแอ็คชัน และหนังผจญภัยเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืนในหนังทั้งสองภาคนี้ รวมถึง X-MEN: DAYS OF FUTURE PAST ในอีกหลายปีต่อมา
ซิงเกอร์สนใจเป็นพิเศษเรื่องที่อะพอคคาลิปส์สถาปนาตนเองให้เป็นเทพเจ้า "ผมหลงใหลความคิดเรื่องพลังของมนุษย์กลายพันธุ์โบราณ มนุษย์กลายพันธุ์จะคิดอย่างไรถ้าเขาหรือเธอเกิดเมื่อ 20,000 หรือ 30,000 ปีก่อน แน่นอนว่าพวกเขาต้องคิดว่าตัวเองเป็นเทพเจ้าและคงทำตัวเหมือนเป็นเทพเจ้า แล้วก็คงได้รับการนับถือบูชาเหมือนเป็นเทพเจ้าด้วย
"อะพอคคาลิปส์เชื่อว่าเขามีหน้าที่สร้างสังคมขึ้นมาและกำจัดความป่าเถื่อนแต่กำเนิดออกไปจากตัวมนุษย์ ในช่วงหลายพันปี อะพอคคาลิปส์ทำเช่นนี้มาแล้วหลายครั้งกับผู้คนในอารยธรรมต่างๆ เช่น ชาวบาบีลอน ชาวอาร์เคเดียน ชาวสุเมเรียน และเขาก็ได้รับการขนานนามเป็นเทพเจ้าหลายองค์ในหลายชั่วอายุคน"
"ไบรอันพาเราย้อนกลับไปสู่ประวัติศาสตร์เพื่อนำเอาตัวร้ายอันน่าทึ่งนี้กลับมาจากอดีตอันห่างไกล" ผู้อำนวยการสร้าง ฮัตช์ พาร์กเกอร์ กล่าว ก่อนหน้าที่โลกจะรู้จักมนุษย์กลายพันธุ์มาเป็นเวลานาน อะพอคคาลิปส์ได้ปกครองโลกในฐานะเทพเจ้า แท้จริงแล้ว "เขาไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นแค่เทพเจ้าองค์หนึ่ง แต่เป็นพระเจ้าเพียงหนึ่งเดียว" คินเบิร์กกล่าว "เป็นความคิดที่เหมาะกับตัวร้ายเป็นอย่างดีเลยครับ ไม่ใช่แค่การต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์กลายพันธุ์อย่างที่เราได้เห็นในภาคก่อนๆ แต่เป็นโลกที่อะพอคคาลิปส์ได้นึกภาพไว้ เป็นโลกที่ผู้แข็งแกร่งเท่านั้นจึงจะอยู่รอด"
"เขาเป็นภัยคุกคามแบบที่เอ็กซ์เม็นไม่เคยรู้จักมาก่อน" พาร์กเกอร์เสริม "อะพอคคาลิปส์เป็นมนุษย์กลายพันธุ์จากยุคโบราณที่แปลกแตกต่างออกไป"
เนื่องจากมีภาพจินตนาการถึงการทำลายล้างโลกของอะพอคคาลิปส์ จึงไม่น่าแปลกใจที่งานนี้เป็นหนังตระกูลเอ็กซ์เม็นซึ่งตั้งเป้าหมายด้านงานภาพเอาไว้สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา "เราไม่ได้แค่เดินทางไปทั่วโลก เรากำลังพูดถึงการที่โลกอาจถึงจุดจบและจักรวาลก็อาจถึงจุดจบด้วย" ผู้กำกับภาพ นิวตัน โธมัส ซีเกลกล่าว เขาทำงานร่วมกับซิงเกอร์มาก่อนหน้านี้ใน X-MEN: DAYS OF FUTURE PAST, X2 และ X-MEN รวมถึงหนังอีกหลายเรื่อง ออสการ์ ไอแซ็ค ผู้รับบทเป็นตัวละครสำคัญตัวนี้กล่าวว่า "เราจัดฉากเพื่อสงครามครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างมนุษย์กลายพันธุ์กับสุดยอดมนุษย์กลายพันธุ์ การต่อสู้ระหว่างเหล่าเอ็กซ์เม็นกับอะพอคคาลิปส์ครั้งนี้บ้าคลั่งสุดๆ ไปเลยครับ!"
ผู้ชมได้เห็นภาพของอะพอคคาลิปส์เป็นครั้งแรกในฉากหลังเครดิตท้ายเรื่องของ X-MEN: DAYS OF FUTURE PAST เป็นภาพมนุษย์กลายพันธุ์รายนี้ในวัยหนุ่มกำลังสร้างปิรามิดด้วยการใช้พลังจิต ขณะที่เหล่าบริวารเฝ้าดูอยู่
อะพอคคาลิปส์หายไปนาน 5,000 ปี โดยการหลับไหลของเขาเริ่มต้นขึ้นในช่วงที่อารยธรรมขึ้นถึงจุดสูงสุด และไปสิ้นสุดลงเมื่ออารยธรรมเรียกได้ว่าไปถึงจุดต่ำสุดพอดี เมื่ออะพอคคาลิปส์ตื่นขึ้นที่กรุงไคโรในปี 1983 หลังจากหลับไปนานหลายพันปี เขาก็รู้สึกตกใจและรับไม่ได้กับความตกต่ำของโลก ทั้งบรรดารถรา เสียงดังหนวกหู และมลพิษ ทั้งหมดล้วนเป็นสัญญาณถึงโลกอันล้มเหลวซึ่งเขาจำเป็นต้องชำระล้าง ภารกิจของเขาก็คือกำจัดผู้อ่อนแอให้สิ้นซากและสร้างโลกขึ้นมาใหม่ให้ผู้ที่แข็งแกร่ง
"ยุคนั้นเป็นยุคสมัยของความขัดแย้ง สงคราม และการทำลายล้าง" ซิงเกอร์กล่าว "อะพอคคาลิปส์มองว่าอารยธรรมนี้จำเป็นต้องคัดกรองส่วนเกินออกไปอย่างรีบด่วน สังคมเต็มไปด้วยค่านิยมผิดๆ ผู้คนหันมาบูชาเงินตราและครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งทำให้พวกเขาหลงผิดคิดว่าตัวเองมีพลังเหมือนพระเจ้า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่อะพอคคาลิปส์รับไม่ได้ เขาจึงต้องการให้มันยุติลงและเริ่มต้นทุกอย่างใหม่หมดอีกครั้ง สร้างโลกขึ้นมาใหม่ให้เป็นไปตามภาพที่เขาคิดไว้"
คินเบิร์กเติบโตมากับยุคแปดศูนย์ เขาจึงเข้าใจดีว่ายุคนั้นเต็มไปด้วยความล้นเกิน ทั้งในแง่ทรงผม แฟชั่น และรถยนต์ "อะพอคคาลิปส์เดินทางจากความสมบูรณ์แบบในวัฒนธรรมอียิปต์โบราณมาพบวัฒนธรรมในปี 1983 ซึ่งมีประชากรแออัด มลพิษ และภัยสงครามนิวเคลียร์" เขากล่าว "แรงจูงใจของเขาจึงเป็นที่เข้าใจได้ ถึงแม้ว่าวิธีการและเป้าหมายที่เขาตั้งไว้จะสุดโต่งก็ตาม"
ออสการ์ ไอแซ็ค มารับบทเป็นอะพอคคาลิปส์ หลังโด่งดังจากบทนักบินรบผู้กล้าหาญ โพ ดาเมรอน ใน STAR WARS: THE FORCE AWAKENS เขากล่าวถึงตัวละครตัวนี้ว่าเป็น "พลังแห่งการสร้างสรรค์และการทำลายล้างโลกใบนี้ เมื่อสิ่งต่างๆ ดูคล้ายจะไร้พัฒนาการเหมือนในช่วงยุคแปดศูนย์ เขาก็ทำลายอารยธรรมนั้นทิ้งซะ"
ตอนแรกซิงเกอร์คิดจะสร้างตัวละครนี้ให้เป็นยักษ์ แต่แล้วเขาก็ตัดสินใจไม่ใช่แนวทางนี้ในฉากส่วนใหญ่ของเรื่อง "คุณจะได้เห็นตัวละครตัวนี้ดูยิ่งใหญ่ตระการตาซึ่งน่าจะสร้างความพอใจได้ในแง่หนึ่ง" เขาอธิบาย "แต่ผมรู้สึกว่าอะพอคคาลิปส์จำเป็นต้องแสดงพลังในการจูงใจผู้คนด้วย ผมจึงเลือกนักแสดงฝีมือดีอย่างออสการ์ แทนที่จะแค่จับตัวละครตัวนี้ไปตกแต่งด้วยดิจิตัลและควบคุมด้วยขั้นตอนแอนิเมชัน ในหนังมีเหตุการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่เราก็ต้องการให้ผู้ชมรู้สึกได้ถึงความเป็นของจริง และรู้สึกได้ว่าอะพอคคาลิปส์มีเลือดมีเนื้อจริงๆ ผมไม่ต้องการให้นักแสดงถูกกลบด้วยงานแอนิเมชันซีจี"
บทบาทนี้ต้องการภาพที่ขัดแย้งกันระหว่างความรุนแรงโหดร้ายกับความเป็นมนุษย์ในรูปแบบที่แตกต่าง ซึ่งไอแซ็คก็ถ่ายทอดสมดุลอันละเอียดอ่อนนี้ออกมาได้ด้วยทักษะความเชี่ยวชาญ "ออสการ์สามารถถ่ายทอดบุคลิกที่หลากหลายได้ด้วยฝีมือของนักแสดงชั้นเยี่ยม" คินเบิร์กกล่าว พาร์กเกอร์เสริมว่า "ออสการ์มีความเป็นธรรมชาติและความสมบูรณ์แบบในแง่การแสดงจนเขากลายเป็นเสาหลักสำคัญของหนัง เขารับบทเป็นตัวละครซึ่งเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมด"
เรเวน ชาร์ลส์ และเอริก: ความหวัง ความสิ้นหวัง และสงครามวันสิ้นโลก
โลกยุคปี 1983 ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องแนวทางการปฏิบัติต่อมนุษย์กลายพันธุ์ ผู้คนซึ่งถือเป็นวิวัฒนาการก้าวต่อไปของมนุษยชาติได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ แม้จะไม่ทั้งหมด ทั้งนี้ก็ด้วยความกล้าหาญของเรเวน/มิสทีก ซึ่งได้หยุดยั้งการสังหารประธานาธิบดีสหรัฐและช่วยไม่ให้เกิดสงครามระหว่างมนุษย์กลายพันธุ์กับมนุษย์ (ตามเรื่องราวใน X-MEN: DAYS OF FUTURE PAST)
เรเวน มนุษย์ผิวสีน้ำเงินที่แปลงร่างได้ ยังคงค้นหาจุดมุ่งหมายที่แท้จริงรวมถึงการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ช่วงหลายปีก่อนเหตุการณ์ใน X-MEN: APOCALYPSE เธอพยายามหลบซ่อนจากคนทั้งโลก ปฏิเสธชื่อเสียงในฐานะตัวแทนของความหวังและการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ที่ยอมรับมนุษย์กลายพันธุ์ เธอไม่ต้องการแบกภาระจากบทบาทนั้น และมองว่าอดีตที่ผ่านมาทำให้เธอไม่สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นฮีโร่ในสายตาของผู้คนทั่วโลก
ในตอนนี้เรเวนใช้ชีวิตตามกฏเกณฑ์ของตัวเองและทำงานอย่างอิสระในฐานะผู้ช่วยเหลือเหล่ามนุษย์กลายพันธุ์ในโลกใต้ดิน โดยต่อสู้กับการหาประโยชน์จากมนุษย์กลายพันธุ์และคอยช่วยเหลือผู้ที่ถูกข่มเหง
"ตัวละครในภาคนี้มีความเป็น 'เรเวน' มากกว่า 'มิสทีก' เพราะเธอไม่สามารถเป็นมนุษย์กลายพันธุ์เต็มตัวในโลกที่เธอยังรู้สึกว่าไม่เป็นมิตรต่อมนุษย์กลายพันธุ์ต่างจากที่คนอื่นมองกัน" นักแสดงผู้ชนะรางวัลออสการ์ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ กล่าว เธอรับบทนี้ครั้งแรกใน X-MEN: FIRST CLASS และอีกครั้งใน X-MEN: DAYS OF FUTURE PAST "เพราะอย่างนี้เธอจึงทำตัวเป็นเรเวนนับตั้งแต่เหตุการณ์ในภาคก่อน จะได้ไม่มีใครรู้ว่าเธอเป็นมนุษย์กลายพันธุ์ในเหตุการณ์ตอนนั้น และเมื่อเราได้พบเธอในหนังเรื่องนี้ ก็จะเห็นเธอใช้ชีวิตเป็นเรเวนเพื่อปกปิดตัวตนที่แท้จริง"
ภารกิจของเรเวนในการช่วยเหลือมนุษย์กลายพันธุ์ไปจบลงที่การเป็นผู้นำเหล่าเอ็กซ์เม็นในการต่อสู้ครั้งใหญ่กับอะพอคคาลิปส์ แต่ก่อนอื่นเธอจะต้องกลับไปพบผู้ชายสองคนที่เธอใกล้ชิดมากที่สุดและมีอดีตอันซับซ้อนยาวนานร่วมกัน นั่นก็คือ ชาร์ลส์ เซเวียร์ (หรือศาสตราจารย์เอ็กซ์) และเอริก เลนเชอร์ (แม็กนีโต้) เรเวนและชาร์ลส์รู้จักกันมานานและเป็นส่วนหนึ่งในทีมเอ็กซ์เม็นยุคดั้งเดิม แต่ในช่วงหลายปีต่อมาทั้งสองห่างกันไปทั้งในแง่ระยะทางและความคิดความอ่าน
มุมมองของเรเวนขัดแย้งกับมุมมองของชาร์ลส์เมื่อทั้งสองกลับมาพบกัน "เธอยังคงไม่เชื่อว่าผู้คนจะยอมรับมนุษย์กลายพันธุ์ เธอได้เห็นด้านมืดมาแล้ว" ซิงเกอร์อธิบาย "ดังนั้นเรเวนจึงเผชิญหน้ากับชาร์ลส์ในเรื่องนี้ เขาไม่ตั้งใจที่จะสร้างกองกำลังต่อสู้ไม่ว่าในรูปแบบไหนๆ ทั้งสองมีมุมมองที่ต่างกันสุดขั้วว่าโลกไปถึงจุดไหนแล้วในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และความเปลี่ยนแปลงนี้นำไปสู่การสร้างทีมเอ็กซ์เม็นขึ้นมาได้อย่างไร"
เมื่อเราได้พบชาร์ลส์ใน X-MEN: APOCALYPSE เขากลับมาทุ่มเทให้การสร้างโรงเรียนเพื่อเด็กผู้มีพรสวรรค์สำหรับเป็นที่พักพิงให้เหล่ามนุษย์กลายพันธุ์ได้มาเรียนรู้วิธีควบคุมพลังของตน
ภายใต้เงื่อนไขของจักรวาล Marvel คินเบิร์กมองว่าโรงเรียนของเซเวียร์เป็นแนวคิดที่สุดโต่ง "เขาเป็นคนนำเด็กกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกัน ฝึกฝนเด็กๆ เหล่านั้นใน 'ห้องอันตราย' ที่ชั้นใต้ดิน แถมเด็กๆ พวกนี้ยังแต่งชุดพิเศษและตะลุยไปทั่วโลกเพื่อหยุดยั้งความชั่วร้ายและความอยุติธรรม แทนที่จะหลีกเลี่ยงแนวคิดนั้น เราต้องการที่จะสำรวจและเปิดรับแนวทางที่สุดโต่งของเหล่าเอ็กซ์เม็น" เขาอธิบายเจมส์ แม็คอะวอย ซึ่งกลับมารับบทนี้อีกครั้งกล่าวว่า เซเวียร์เป็นผู้มีพลังจิตแรงกล้า แต่พรสวรรค์สูงสุดของเขาก็คือ "การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นและความสามารถในการสอน เหตุการณ์ในภาคที่แล้วทำให้เขามีความหวังและความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น"
การมองโลกในแง่ดีและความหวังของเซเวียร์ในปี 1983 นับเป็นภาพที่กลับตาลปัตรโดยสิ้นเชิงจากตัวละครผู้สิ้นหวังใน X-MEN: DAYS OF FUTURE PAST "รอบตัวเขามีแต่นักเรียนหนุ่มสาวที่เก่งกาจสามารถ ตอนนี้เขาก็สามารถมองข้ามอคติ ความกลัว และความเกลียดชังที่ยังคงมีอยู่ในโลกใบนี้" แม็คอะวอยกล่าว แต่กระบวนการความคิดของเขาต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหลังจากอะพอคคาลิปส์เริ่มต้นยุคสมัยแห่งความหวาดกลัวและการทำลายล้าง "สิ่งที่เซเวียร์กลัวที่สุดเริ่มปรากฏออกมา และเขาต้องพร้อมรับมือกับความเป็นจริงเมื่อโลกตกอยู่ในมือของมนุษย์กลายพันธุ์ผู้ชั่วร้าย" แม็คอะวอยเสริม "ในบางแง่เขาต้องพึ่งการใช้กำลังมากยิ่งขึ้น และคล้ายแม็กนีโต้มากยิ่งขึ้นด้วย"
แน่นอนว่าแม็คอะวอยกำลังเอ่ยถึงเพื่อนสนิทที่สุดและศัตรูอันตรายที่สุดของเซเวียร์ เมื่อเรากลับมาพบเขาใน X-MEN: APOCALYPSE เขากำลังใช้ชีวิตอย่างสงบสันติ แม็กนีโต้หายตัวไปหลังจากล้มเหลวในแผนการสังหารประธานาธิบดีสหรัฐในตอนจบของ DAYS OF FUTURE PAST การที่เขาเงียบหายไปส่งผลดีต่อความก้าวหน้าในการนำมนุษย์กลายพันธุ์มารวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
กว่าทศวรรษหลังจากนั้น "เขาแขวนผ้าคลุมและละทิ้งหนทางอันชั่วร้าย" ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ นักแสดงผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์เมื่อไม่นานมานี้กล่าว เขากลับมารับบทมนุษย์กลายพันธุ์ผู้ทรงพลังอีกครั้ง แม็กนีโต้ใช้ชีวิตเงียบสงบในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในโปแลนด์ เขามีภรรยาและลูกสาวตัวน้อย และทำงานที่โรงงานเหล็กในละแวกนั้น แต่เมื่อการเผชิญหน้ากับทางการท้องถิ่นนำไปสู่จุดจบอันน่าเศร้า ชีวิตสงบสุขของแม็กนีโต้ก็ถูกทำลายลงและหัวใจเขาก็แหลกสลายไปด้วย
"แม็กนีโต้เลือกที่จะเลียนแบบวิถีชีวิตของพ่อแม่ด้วยการใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในโปแลนด์ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิด" ซิงเกอร์กล่าว "แต่ทุกอย่างเกิดผิดพลาดอย่างร้ายแรง ทำให้เขาหมดสิ้นความหวังและหันไปสู่ด้านที่เลวร้าย"
ผู้ทำลายล้าง
เมื่อถูกโหมด้วยความโกรธแค้น แม็กนีโต้จึงใจอ่อนต่อข้อเสนอของอะพอคคาลิปส์ที่จะให้เขาร่วมกลุ่มสี่จตุรอาชาที่อะพอคคาลิปส์ได้สร้างขึ้นมาใหม่ ด้วยแรงบันดาลใจจากจตุรอาชาผู้ทำลายล้างโลกตามพระคัมภีร์ไบเบิล จตุรอาชาของอะพอคคาลิปส์เป็นลูกสมุนมนุษย์กลายพันธุ์ซึ่งฟาสเบนเดอร์กล่าวว่า "เป็นพวกที่อยู่ริมชายขอบและถูกกีดกันออกจากกลุ่มหรือถูกข่มเหง"
จตุรอาชาของอะพอคคาลิปส์ในปี 1983 ได้แก่ แม็กนีโต้ ไซล็อก แองเจิล และสตอร์ม ไซล็อกซึ่งรับบทโดยโอลิเวีย มันน์ เป็นผู้มีพลังจิตแรงกล้าและนินจามือสังหารที่ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ในตอนแรกเธอเป็นบอดีการ์ดให้คาลิบัน นักแกะรอยมนุษย์กลายพันธุ์ใต้ดิน อะพอคคาลิปส์สัมผัสพลังของไซล็อกได้และชวนเธอให้เข้ามาร่วมทีม "เธอเป็นตัวละครที่น่าหลงใหลค่ะ" มันน์กล่าว "ต่างจากมนุษย์กลายพันธุ์หลายๆ รายที่จะลงมือฆ่าต่อเมื่อจำเป็น ไซล็อกสนุกกับการฆ่า หรืออย่างน้อยเธอก็ไม่มีปัญหาที่จะลงมือ"
มันน์ ซึ่งเป็นแฟนของตัวละครนี้ในคอมิกด้วยกล่าวว่าไซล็อกมีส่วนสำคัญในเนื้อเรื่องเสมอ "เธอเป็นนักสู้ที่มีทักษะ เข้มแข็งและดุดัน เธอเป็นตัวละครสาวแกร่งที่เป็นตัวแทนพลังของผู้หญิงอย่างแท้จริง"
สตอร์ม (ซึ่งมีชื่อจริงว่าโอโรโร มอนโร) เป็นเด็กกำพร้าที่ถูกเลี้ยงให้มาเป็นขโมยตามท้องถนนในไคโร สตอร์มซึ่งรับบทโดย อเล็กซานดรา ชิปป์ มีความสามารถควบคุมสภาพอากาศได้ทุกรูปแบบ สตอร์มบินได้ด้วยความสามารถในการควบคุมกระแสลม แม้ว่าเธอจะกลายเป็นผู้นำคนสำคัญของเหล่าเอ็กซ์เม็น แต่สตอร์มที่เราพบในภาคนี้กำลังดิ้นรนค้นหาตัวตนของเธอก่อนที่อะพอคคาลิปส์จะโน้มน้าวเธอให้เข้าร่วมทีมของเขา
"สตอร์มในภาคนี้เป็นคนบ้าบิ่นและทำตามอารมณ์มากกว่าสตอร์มวัยผู้ใหญ่ที่ฮัลลี เบอร์รีเล่นไว้ในหนังเอ็กซ์เม็นภาคก่อนๆ" ชิปป์กล่าว "เธอสับสนว่าตัวเองต้องการเป็นใครกันแน่ และการขาดโอกาสทำให้เธอเข้าร่วมเป็นจตุรอาชายุคใหม่ของอะพอคคาลิปส์"
จตุรอาชาคนที่สี่ก็คือแองเจิล การกลายพันธุ์ทำให้เขามีปีกขนาดใหญ่และบินได้ ความคล่องแคล่ว ความเข้มแข็ง และปฏิกริยาตอบสนองที่รวดเร็วทำให้เขาเป็นตัวอันตรายในการต่อสู้ระยะประชิด
ใน X-MEN: APOCALYPSE หลังจากปีกของเขาได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง แองเจิลก็กลายเป็นเหมือนหนุ่มพังค์ร็อคผู้กราดเกรี้ยว เขาเป็นคนขี้เมากระเซอะกระเซิงที่อยู่รอดด้วยสัญชาตญาณล้วนๆ ในตอนต้นเรื่องเขาเป็นแชมป์การต่อสู้ในกรงแบบใต้ดินที่เบอร์ลินตะวันออก แองเจิลได้รับการติดต่อจากอะพอคคาลิปส์ซึ่งได้ให้โอกาสเขาปลดปล่อยความเกรี้ยวกราดและเข้าร่วมเป็นจตุรอาชา อะพอคคาลิปส์พบว่าแองเจิลเป็นสาวกผู้ภักดีที่กำลังมองหาเหตุผลในการใช้ชีวิตแทนที่จะเป็นแค่เหตุผลในการฆ่า เพื่อตอบแทนความภักดีของแองเจิล อะพอคคาลิปส์จึงช่วยซ่อมปีกของแองเจิลโดยเปลี่ยนให้มันกลายเป็นโลหะเทคโนออร์แกนิกซึ่งช่วยให้แองเจิลสามารถยิงใบมีดออกจากปีกอันแข็งแกร่งไร้เทียมทาน
เบน ฮาร์ดี ผู้รับบทเป็นแองเจิล ทราบดีว่าตัวละครนี้เป็นที่ตัวละครที่แฟนๆ รอคอย เขาจึงตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่เพื่อสร้างตัวละครนี้ให้มีชีวิตขึ้นมา ซึ่งก็รวมถึงการฝึกซ้อมอย่างเข้มงวด ฮาร์ดีฝึกหนักสัปดาห์ละหกวันและควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด "เพื่อให้ดูเหนือมนุษย์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้" เขากล่าว สำหรับฉากบินนั้น ฮาร์ดีได้ฝึกฝนและแสดงในฉากแขวนตัวด้วยลวดสลิงที่ซับซ้อน ซึ่งหลายครั้งก็ทำให้เขาเวียนหัว "มันเป็นการลอยสูง 30 ฟุตแล้วบินโฉบลงมาเหมือนอยู่บนรถไฟเหาะทั้งวันนั่นล่ะครับ" ฮาร์ดีกล่าว
ผู้ปกป้อง
ขณะที่อะพอคคาลิปส์รวบรวมเหล่าจตุรอาชา ชาร์ลส์ก็ฝึกสอนนักเรียนของเขา เมื่อการทำลายล้างของอะพอคคาลิปส์มาเยือนถึงบ้าน หนุ่มสาวรุ่นใหม่ก็ต้องรีบโต เหมือนกับที่เรเวนบอกว่า "พวกเธอไม่ใช่นักเรียนอีกต่อไปแล้ว พวกเธอคือเอ็กซ์เม็น"
ผู้ชมคุ้นเคยกับตัวละครหลายตัวในกลุ่มนี้อยู่แล้ว แต่เราจะได้พบพวกเขาในวัยหนุ่มสาวก่อนจะกลายเป็นตัวละครสำคัญในภาพยนตร์เอ็กซ์เม็นฉบับดั้งเดิม ซิงเกอร์กล่าวว่าการสร้างตัวละครวัยหนุ่มสาวเหล่านี้ให้มีชีวิตขึ้นมาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการสร้าง X-MEN: APOCALYPSE "โลกเริ่มเปิดรับมนุษย์กลายพันธุ์แล้วในแง่ใดแง่หนึ่ง และหนังเรื่องนี้ไม่เพียงแนะนำให้รู้จักตัวละครใหม่ๆ มันยังได้เล่าถึงการสร้างทีมและอธิบายว่าทำไมเอ็กซ์เม็นจึงเป็นสิ่งจำเป็น ตัวละครเหล่านี้ไม่ใช่แค่นักเรียนที่โรงเรียนของเซเวียร์ ผมเข้าใจว่าบางคนรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนนอกสังคมและอยากอยู่ในที่ซึ่งพวกเขาได้รับการยอมรับ แต่ทำไมต้องมีกองกำลังต่อสู้ของมนุษย์กลายพันธุ์ด้วยล่ะ มีความจำเป็นอะไร หนังภาคนี้จะเล่าเรื่องราวในส่วนนั้น"
จีน เกรย์ (โซฟี เทอร์เนอร์) มีทั้งพลังในการส่งกระแสจิตและพลังจิตในการเคลื่อนย้ายสิ่งของ แต่เมื่อจีนเป็นวัยรุ่น พลังของเธอเกินการควบคุมและต้องได้รับการตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของตัวเธอเองและเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพของจีน ชาร์ลส์จึงรับเธอมาอยู่ในความดูแลเช่นเดียวกับที่เขาดูแลเรเวน (ใน X-MEN: FIRST CLASS) แม็คอะวอยกล่าวว่าชาร์ลส์และจีนผูกพันกันมากเพราะ "เขาเข้าใจดีว่ามันยากแค่ไหนที่จะเปิดปิดพลังนี้ให้ได้ตามต้องการ"
แม้อยู่ในความดูแลของชาร์ลส์ แต่จีนก็ไม่อาจปรับตัวเข้ากับโรงเรียนและเพื่อนมนุษย์กลายพันธุ์ได้ง่ายๆ "เธอรู้สึกโดดเดี่ยว" เทอร์เนอร์กล่าว "เธออยู่ในโรงเรียนสำหรับมนุษย์กลายพันธุ์ แต่เธอไม่สามารถควบคุมพลังของตัวเองได้เต็มที่ และนักเรียนคนอื่นๆ ก็กลัวเธอหรือไม่ก็คิดว่าเธอเป็นตัวประหลาด"
สิ่งต่างๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อจีนได้พบเพื่อนร่วมชั้น สก็อตต์ ซัมเมอร์ส ซึ่งรับบทโดยไท เชอริแดน เธอเริ่มผูกพันกับสก็อตต์และมีความสุขมากขึ้น คินเบิร์กกล่าวว่าความสัมพันธ์นี้เป็น "ต้นกำเนิดเรื่องราวความรักระหว่างทั้งสอง"
แต่สก็อตต์ (หรือฉายาว่าไซคล็อปส์) จะต้องจัดการกับพลังของตัวเองให้ได้เสียก่อน เขาสามารถปล่อยลำแสงอานุภาพสูงออกมาจากดวงตา ซึ่งจะป้องกันได้ก็ด้วยการใส่แว่นตาพิเศษที่ทำจากแร่ควอตซ์ทับทิมเท่านั้น แม้แฟนๆ รู้กันดีว่าสก็อตต์จะต้องกลายเป็นผู้นำคนหนึ่งของเอ็กซ์เม็น แต่ในปี 1983 เขายังไม่สามารถแสดงพลังถึงจุดนั้นได้ สก็อตต์ผู้ผอมบางเก้งก้างและขี้กังวลตามแบบวัยรุ่น ยังไม่ลงรอยกับพี่ชาย อเล็กซ์ (ลูคัส ทิลล์) หรือที่รู้จักกันในชื่อฮาว็อค ซึ่งเราได้พบใน X-MEN: FIRST CLASS อีกด้วย
เช่นเดียวกับมนุษย์กลายพันธุ์อีกมากมาย ในตอนแรกสก็อตต์ก็รู้สึกว่าเขาเข้าสังคมไม่ได้ "เขาไม่ค่อยมีอารมณ์ขันเอาซะเลยน่ะครับ" เชอริแดนกล่าว แต่ก็บอกว่าจีนช่วยเปลี่ยนมุมมองในแง่ร้ายของเขาได้อย่างรวดเร็ว "สก็อตต์กับจีนพบกันครั้งแรกแบบเขินๆ มีการโปรยเสน่ห์ใส่กันบ้าง และการพบกันครั้งนั้นก็ได้กลายเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ที่สำคัญมากในเวลาต่อมา"
แฮงค์ แม็คคอย/บีสต์ เป็นผู้ออกแบบแว่นในการต่อสู้ให้สก็อตต์ แว่นนี้ช่วยให้เขาสามารถควบคุมพลังของลำแสงที่ออกมาจากตาได้ งานนี้เป็นงานที่เลี่ยงไม่ได้สำหรับแฮงค์ อัจฉริยะนักประดิษฐ์ ซึ่งเมื่อกลายร่างเป็นบีสต์ เขาจะมีความดุร้ายกว่าปกติ รวมถึงมีความแข็งแกร่ง ความเร็ว และความว่องไวเพิ่มขึ้นด้วย
แฮงค์ใช้เวลาสิบปีที่ผ่านมาช่วยสร้างและเปิดโรงเรียนสำหรับผู้มีพรสวรรค์ของเซเวียร์ขึ้นมาใหม่ นิโคลัส โฮลต์ ซึ่งกลับมารับบทเดิมที่เล่นไว้ใน X-MEN: FIRST CLASS กล่าวว่า "แฮงค์ยังคงสร้างอุปกรณ์และกลไกไฮเทคต่อไป เขาปรับปรุงเครื่องเซเรโบรและสร้างเครื่องบินเจ็ตที่บินเร็วกว่าเสียงและทนแรงระเบิดได้ เขาชอบการเป็นครูและมีลูกศิษย์เป็นมนุษย์กลายพันธุ์รุ่นหนุ่มสาว"
หนึ่งในมนุษย์กลายพันธุ์กลุ่มนี้ก็คือปีเตอร์ แม็กซิมอฟฟ์/ควิกซิลเวอร์ ซึ่งสามารถเคลื่อนไหวด้วยความเร็วสูง เขาเป็นตัวละครตัวหนึ่งที่แจ้งเกิดใน DAYS OF FUTURE PAST ด้วยฉากหยุดโลกที่มีงานภาพสะกดสายตา เมื่อควิกซิลเวอร์วิ่งขนานกับพื้นไปตามผนังห้องครัวของตึกเพนทากอน ระหว่างพยายามช่วยแม็กนีโต้ออกจากคุกที่ไม่น่าเจาะเข้าไปได้แต่เขาก็ทำได้สำเร็จ
ผู้ชมไม่เคยได้สัมผัสประสบการณ์แบบนี้ในภาพยนตร์มาก่อน แต่ฉากของควิกซิลเวอร์ใน X-MEN: APOCALYPSE เหนือชั้นยิ่งกว่านั้น "ความสนุกในการสร้างฉากใหม่เกิดจากหลักการของควิกซิลเวอร์ ซึ่งก็คือในเมื่อเขาเคลื่อนไหวได้เร็วขนาดนั้น เขาจึงสามารถทำกิจกรรมทั้งวันได้ภายในพริบตาเดียว" ผู้ควบคุมวิชวลเอฟเฟ็กต์ จอห์น ดิกสตรากล่าว เอแวน ปีเตอร์ส กลับมารับบทเดิมที่เล่นไว้ใน X-MEN: DAYS OF FUTURE PAST เขากล่าวว่า "เวลาของควิกซิลเวอร์มีกฎของมันเอง เขาเคลื่อนไหวเร็วมากจนกระทั่งเหมือนหยุดเวลาได้ แต่มันก็ทำให้เขาต้องใช้ความพยายามมากเหมือนกัน"
ฉากใหม่นี้ต้องอาศัยกล้องหลายประเภท เช่น กล้องแฟนทอมและกล้องเรด โดยถ่ายทำที่ความเร็วต่างๆ กัน บางครั้งก็เร็วถึง 3200 เฟรมต่อวินาที นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาพนิ่งประกอบลงไปด้วย "เป็นฉากความยาวสองนาทีที่เราใช้เวลากว่าเดือนครึ่งในการถ่ายทำ" ซิงเกอร์กล่าว "และต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนที่สุดในยุคปัจจุบันด้วย มันให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากฉากใน DAYS OF FUTURE PAST และอาจแฝงความเศร้าอยู่สักหน่อย แต่มันมีเอกลักษณ์มากเลยล่ะครับ"
การเคลื่อนไหวแบบไวติดจรวดช่วยให้ตัวละครตัวนี้มีความสำคัญมากขึ้นในเรื่องราวใหม่ แต่มีบางสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน นั่นคือ มนุษย์กลายพันธุ์อาศัยอยู่อย่างเปิดเผยในหมู่มนุษย์มาหนึ่งทศวรรษแล้ว แต่ควิกซิลเวอร์ก็ยังคงอาศัยอยู่ในห้องใต้ดินที่บ้านแม่เหมือนเดิม "เขาซึมเศร้าอยู่บ้าง" ปีเตอร์สกล่าว "ห้องของปีเตอร์สะอาดขึ้นเล็กน้อย แต่เขาอยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจในการค้นหาคนที่เขาคิดว่าผูกพันด้วยเป็นพิเศษ"
ตัวละครใหม่อีกคนหนึ่งในโรงเรียนของเซเวียร์ก็คือ เคิร์ต แวกเนอร์/ไนท์ครอว์เลอร์ เขามีหน้าตาดูคล้ายปีศาจ ด้วยผิวสีน้ำเงิน ตาสีเหลือง และหางยาวมีปลายเป็นลูกศร ทำให้เขากลายเป็นคนนอกสังคมมานานแล้วก่อนพลังแบบมนุษย์กลายพันธุ์จะปรากฏ ซึ่งพลังนั้นก็ได้แก่ความว่องไวเหนือมนุษย์และการย้ายร่าง (พร้อมด้วยเสียง "ฟึ้บ!") ในภาคนี้ไนท์ครอว์เลอร์เป็นตัวละครที่ขี้อาย อ่อนไหว และไร้เดียงสา แต่ก็มีความเฉลียวฉลาดด้วย เขาเป็นคล้ายนักพยากรณ์ผู้เงียบขรึม
โคดี สมิท-แม็คฟี (RISE OF THE PLANET OF THE APES) รับบทเป็นตัวละครนี้ นักแสดงหนุ่มรายนี้เชื่อว่าไนท์ครอว์เลอร์จะเป็นตัวละครที่ชนะใจผู้ชม "ลึกๆ แล้วเคิร์ตเป็นคนที่ยึดมั่นในแบบแผน เบิกบาน ร่าเริง เกเร ขณะเดียวกันก็มีศรัทธาและเปราะบางด้วย" เขาอธิบาย
ส่วนตัวละครที่เพิ่งมาปรากฏในหนังเอ็กซ์เม็นก็คือจูบิเลชัน ลี/จูบิลี รับบทโดยลานา คอนดอร์ จูบิลีสามารถปล่อยพลังงานจากมือของเธอได้ เธอเป็นที่รู้จักในชุดเสื้อโค้ตยาวสีเหลือง รวมถึงบุคลิกแบบสาวนักช็อป จูบิลีอายุ 18 ปี เธอยังอยู่ในวัยกำลังโตและใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับจีน สก็อตต์ และไนท์ครอว์เลอร์ คอนดอร์กล่าวว่าตัวละครนี้ "ลงตัวกับฉากยุคแปดศูนย์ เธอเป็นสาวป็อปที่รักสนุกและชอบเล่นวิดีโอเกมเช่นเดียวกับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์กลายพันธุ์หรือไม่"
อีกคนหนึ่งที่มาร่วมทีมเอ็กซ์เม็นในการหยุดยั้งอะพอคคาลิปส์ก็คือ มอยรา แม็คแทกเกิร์ต เจ้าหน้าที่ซีไอเอ มอยราเคยเป็นคนรักเก่าของชาร์ลส์ แต่เขาได้ลบความทรงจำของเธอช่วงที่ทั้งสองคบกันในปี 1962 ซึ่งเป็นช่วงที่มนุษย์หวาดกลัวและไม่ไว้ใจมนุษย์กลายพันธุ์อย่างที่สุด ทั้งนี้เพื่อปกป้องเธอไม่ให้ถูกโจมตีโดยกลุ่มคนที่ต่อต้านมนุษย์กลายพันธุ์
โรส เบิร์น กลับมารับบทเดิมที่เธอเล่นไว้ใน X-MEN: FIRST CLASS เธอกล่าวว่าแม้มอยราจะสูญเสียความทรงจำ แต่ความผูกพันที่เธอมีต่อมนุษย์กลายพันธุ์ก็ยังคงแข็งแกร่ง "ในแง่หนึ่งมอยราก็เป็นคนนอกสังคม" เบิร์นกล่าว "เธอเป็นคนที่เข้าอกเข้าใจและสนับสนุนมนุษย์กลายพันธุ์อย่างจริงจัง แต่การต่อสู้กับอะพอคคาลิปส์เป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกสำหรับเธอ" นักแสดงรายนี้ยังได้บอกใบ้ถึงการกลับมาสานสัมพันธ์กับชาร์ลส์อีกครั้งหนึ่งด้วย "เขาให้ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแก่มอยรา..." เธอบอกได้เพียงแค่นี้
อีกคนหนึ่งที่กลับมาก็คือเจ้าหน้าที่ลับซึ่งเป็นมนุษย์ผู้มีมุมมองเรื่องมนุษย์กลายพันธุ์ตรงข้ามกับมอยราโดยสิ้นเชิง วิลเลียม สไตรเกอร์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิบัติการและนักวิทยาศาสตร์การทหารที่มุ่งมั่นจะกำจัดมนุษย์กลายพันธุ์ เขาลงมือทำทุกทางเพื่อป้องกันสิ่งที่เขามองว่าเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติจากการดำรงอยู่ของมนุษย์กลายพันธุ์ หลังจากเราได้เห็นเขาครั้งล่าสุดใน X-MEN: DAYS OF FUTURE PAST เมื่อปี 1973 สไตรเกอร์ยังคงดำเนินภารกิจเพื่อกำจัดโลกของมนุษย์กลายพันธุ์ จอช เฮลแมน ผู้กลับมารับบทนี้กล่าวว่า "สไตรเกอร์ทำสิ่งที่เขามองว่าจำเป็นเพื่อช่วยปกป้องประเทศเอาไว้ แต่เขาเชื่อมั่นในงานที่ทำอยู่เสียจนถึงชั้นปิดหูปิดตาต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น"
โลกของอะพอคคาลิปส์
X-MEN: APOCALYPSE เริ่มการถ่ายทำหลักในวันที่ 20 เมษายน 2015 ที่มอนทรีออล รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา กองถ่ายปักหลักกันอยู่ที่ Mel's Cite du Cinema (หรือที่มักเรียกกันว่าเมลส์) สตูดิโอพื้นที่กว่า 27 เอเคอร์บนเกาะอิล เดอ มอนทรีออล ใกล้แม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ ด้วยโรงถ่ายเจ็ดโรงซึ่งมีพื้นที่รวม 116,500 ตารางฟุต ทางกองถ่ายได้ดัดแปลงและแปรสภาพพื้นที่ทุกตารางฟุตให้ตรงตามความต้องการอันมหาศาล นอกจากนี้ ทีมงานยังใช้สถานที่จริงหลายแห่งทั่วเมือง อันได้แก่ โรงงานหลายแห่ง โรงละครร้าง ศูนย์การค้าเก่า และบ้านกลางป่า
นิวตัน โธมัส ซิเกล เปิดรับโอกาสที่จะได้สำรวจงานภาพในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ เช่น อียิปต์ยุคโบราณ อียิปต์ยุคใหม่ โปแลนด์ เยอรมนีตะวันออก และสหรัฐอเมริกาในปี 1983 เขากำหนดสภาพแวดล้อมของสถานที่แต่ละแห่งให้มีรูปแบบที่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่โทนสี ตะวันออกกลางมีสีคล้ายสีทรายและบรรยากาศก็แวดล้อมไปด้วยประกายทอง ชวนให้รู้สึกถึงความร้อน เม็ดทราย และความแห้งแล้ง
การถ่ายทำในควิเบกช่วงปลายฤดูหนาวอันสาหัสของแคนาดานับเป็นความท้าทายอย่างเห็นได้ชัด สำหรับฉากภายในสิ่งก่อสร้างของอียิปต์ยุคโบราณ ซีเกลกล่าวว่า "เราให้แสงอาทิตย์ลอดผ่านเข้ามาในตัวปิรามิดและผสมผสานกับแสงจากเปลวไฟ กองไฟ และตะเกียงน้ำมันอย่างที่ใช้กันเมื่อ 4,000 ปีก่อน และในฉากอีกหลายพันปีต่อมา "ไคโรมีแสงสีละลานตาโดยมีแสงสังเคราะห์จากหลอดไฟนานาชนิดและดวงอาทิตย์สีทองสุกสว่างที่เราสร้างให้อียิปต์" ซีเกลกล่าว
นักออกแบบงานสร้างผู้ชนะรางวัลออสการ์ แกรนต์ เมเจอร์ (ไตรภาค THE LORD OF THE RINGS) ร่วมกับทีมงานฝ่ายศิลป์ผู้มีความสามารถ นำโดยหัวหน้าผู้กำกับศิลป์ มิแชลล์ ลาลิแบร์เต (X-MEN: DAYS OF FUTURE PAST) และนักตกแต่งฉากผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ แอนน์ คูลเจียน (DIVERGENT) ได้เข้ามารับภาระหนักในการดูแลการออกแบบ การสร้างสรรค์ และการก่อสร้างฉากเกือบหกสิบฉากในหนังเรื่องนี้ รวมถึงการออกแบบและกำกับศิลป์ในสถานที่ถ่ายทำจริงซึ่งตั้งอยู่ภายในและโดยรอบเขตเมืองมอนทรีออล
สำหรับเมเจอร์ ความท้าทายสำคัญประการแรกคือการสร้างอียิปต์ยุคโบราณและยุคใหม่ ส่วนอันดับสองที่ตามมาติดๆ ก็คือการรักษาแนวทางการออกแบบที่มีรายละเอียดมากมายในงานคอมิกและหนังเอ็กซ์เมนภาคก่อนๆ เพื่อเป็นการ "ให้เกียรตินักออกแบบที่เคยทำงานมาก่อนหน้าผม" เมเจอร์กล่าว "รวมถึงงานออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของคฤหาสน์เอ็กซ์ และเครื่องเซเรโบรซึ่งได้รับการตกแต่งอย่างละเอียด" สำหรับวิหารของชาวอียิปต์นั้น ทีมออกแบบได้รับคำปรึกษาด้านข้อมูลจากนักอียิปต์วิทยา โดยเมเจอร์มีรายการคำถามยาวเหยียด เช่นว่า เทพเจ้าองค์ไหนเกี่ยวข้องกับจตุรอาชาคนใด จะนำเสนอพวกเขาอย่างไร และสัตว์ประเภทไหนที่ตรงกับพลังที่พวกเขามี นักอียิปต์วิทยาได้เขียนอักษรอียิปต์โบราณให้เขา โดยเป็นข้อความที่สะท้อนเรื่องราวและใช้เป็นองค์ประกอบในการตกแต่งวิหาร ฉากวิหารแห่งนี้ยังมีรูปปั้นขนาดยักษ์สี่ตัวอีกด้วย อักษรโบราณทั้งหมดวาดด้วยมือในขนาดเล็กมาก่อนจากนั้นจึงทำการลอกลายแล้วตัดด้วยเครื่อง C & C "ตามเส้นที่วาดไว้บนแผ่นสไตโรโฟมเพื่อให้ช่างแกะสลักมีจุดอ้างอิง" เมเจอร์อธิบาย "เรามีทีมงานใหญ่ ทุกคนทำงานกับแผ่นโฟมพวกนี้อยู่นานหลายเดือน ทั้งงานแกะสลักและงานฉาบก่อนที่ช่างทาสีจะเข้ามาทำงานต่อ โชคดีครับที่เราเริ่มทำกันตั้งแต่เนิ่นๆ"
ลาลิแบร์เตกล่าวว่าฉากการทำลายล้างอันยิ่งใหญ่ทำให้หนังภาคนี้แตกต่างจากภาคก่อนๆ "ความท้าทายในการเล่าเรื่องราวการทำลายล้างโลกก็คือการทำทุกอย่างให้ดูงดงามแล้วทำลายมันซะ" เขาอธิบาย ในฉากใหญ่ฉากหนึ่งของหนัง อะพอคคาลิปส์สร้างปิรามิดขนาดใหญ่ขึ้นมาใหม่กลางกรุงไคโรยุคปี 1983 เมเจอร์พบโรงงานเก่าแห่งหนึ่งซึ่งกำลังจะถูกรื้อถอนในเขตเมืองมอนทรีออล "เราพังอาคารลงมาจริงๆ และรื้อถอนบริเวณโดยรอบ ค่อยๆ สร้างสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลายขึ้นมาทีละชั้นๆ" เมเจอร์กล่าว
สำหรับฉากคฤหาสน์เอ็กซ์ เมเจอร์ได้รับอาร์ตเวิร์คจากผู้ออกแบบงานสร้าง จอห์น ไมร์ ผู้สร้างฉากนี้ให้หนัง X-MEN ภาคดั้งเดิม รวมถึงใน X-MEN: DAYS OF FUTURE PAST ซิงเกอร์ต้องการคฤหาสน์ขนาดใหญ่ยิ่งกว่าเดิม ดังนั้นเมเจอร์จึงได้เพิ่มห้องสมุดสูงสองชั้น ห้องพักผ่อนของนักเรียน ห้องนอน ห้องน้ำ และทางเดินเชื่อมอีกหลายส่วน ตัวฉากถูกดัดแปลงเพื่อใช้แทนชั้นต่างๆ และกินพื้นที่โรงถ่ายสองโรงเต็มที่สตูดิโอเมลส์ โดยต้องรื้อผนังระหว่างโรงถ่ายสองโรงออกไปเพื่อรองรับคฤหาสน์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น นับเป็นฉากคฤหาสน์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยสร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ไมร์ได้กำหนดไว้ นับเป็นครั้งแรกที่ผู้ชมจะได้เห็นคฤหาสน์ทั้งหลัง "ครบ 360 องศา ทั้งด้านบน ด้านล่าง ด้านข้าง และด้านหลัง" เมเจอร์กล่าว "จากนั้นเราก็จะถล่มฉากทั้งฉาก"
บริเวณโดยรอบคฤหาสน์เต็มไปด้วยต้นไม้ ไม้พุ่ม ไม้ดอก และพุ่มไม้ที่ตัดแต่งเป็นรูปต่างๆ นับร้อยๆ ต้น นอกเหนือจากฉากคฤหาสน์หลักแล้ว ยังมีฉากย่อยๆ อีกหลายฉากสำหรับช่วงของควิกซิลเวอร์ อันได้แก่ ฉากห้องน้ำ ห้องนอนสองสามห้อง ห้องสมุด และระเบียงด้านนอก ส่วนเครื่องเซเรโบรก็ได้รับการปรับปรุงใหม่ให้เหมาะกับยุคแปดศูนย์เช่นเดียวกัน
ฉากสำคัญฉากหนึ่งซึ่งเป็นการเปิดตัวมนุษย์กลายพันธุ์อย่างไซคลอปส์, จีน เกรย์, ไนท์ครอว์เลอร์ และจูบิลี เกิดขึ้นในศูนย์การค้าที่มีรายละเอียดย้อนยุคมากมาย เมเจอร์และทีมงานพบสถานที่ถ่ายทำอันสมบูรณ์แบบ เป็นศูนย์การค้าเก่าแก่ขนานแท้ตั้งอยู่ชานเมืองมอนทรีออล ศูนย์การค้าแห่งนี้ไม่ได้รับการปรับปรุงใหม่เลยตั้งแต่ยุค 1980 โชคดีที่เจ้าของสถานที่และบรรดาร้านค้ายินยอมให้กองถ่ายปรับเปลี่ยนพื้นที่ร้านได้ ทีมงานของเมเจอร์นำของทั้งหมดออกจากร้านแล้วแทนที่ด้วยสินค้าและของประกอบฉากเพื่อปรับปรุงพื้นที่โดยรวมให้ดูเหมือนศูนย์การค้าสมัยที่ซิงเกอร์ยังเด็ก ทีมงานศึกษาข้อมูลสินค้ายี่ห้อดังๆ และร้านค้าในศูนย์การค้าอเมริกันยุคนั้น รวมทั้งขออนุญาตใช้ตราสินค้าและสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อสร้างร้านอย่างร้านเสื้อผ้า Contempo Casuals ทีมงานหาตู้เกมเก่ามาวางและทำให้เกมอาร์เคดกลับมามีชีวิตอีกครั้ง อาร์เคดนี้มีชื่อว่าสเปซ พอร์ต ตามชื่อเกมอาร์เคดที่ซิงเกอร์เคยไปเล่นเมื่อยังเป็นเด็ก
ฉากบ้านและโรงงานเหล็กในโปแลนด์ที่แม็กนีโต้อาศัยและทำงานอยู่ถ่ายทำในชนบทอันงดงามชานเมืองมอนทรีออล โรงหล่อนี้มีความกว้างพอเหมาะและผลิตชิ้นงานหล่อเหล็กหลอมเหมือนที่บรรยายไว้ในบท ส่วนฉากบ้านนั้นต้องการดอกไม้ตกแต่ง และโชคดีที่พรรณไม้ตามฤดูกาลได้ช่วยตกแต่งฉากได้อย่างลงตัว "บ้านหลังนั้นดูงดงามในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิด้วยสีสันที่กำลังดี ขณะที่โรงหล่อก็มีความดิบหยาบในตัวมันเอง" เมเจอร์กล่าว โทนสีหม่นในฉากยุโรปตะวันออกมีอยู่แล้วในโรงงานซึ่งใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ
การออกแบบตัวละคร
ความท้าทายในการออกแบบเอฟเฟ็กต์แต่งหน้าให้อะพอคคาลิปส์คือการไม่ทำให้ออสการ์ ไอแซ็ค ถูกกลืนหายไป ในตอนแรกการแปลงโฉมเขาใช้เวลาสามชั่วโมงครึ่ง แต่เมื่อฝึกฝนไปเรื่อยๆ ทีมงานสองคนก็สามารถลดเวลาลงมาเหลือชั่วโมงครึ่ง
เอฟเฟ็กต์แต่งหน้าของตัวละครตัวนี้มีชิ้นส่วนบริเวณหน้าผาก จมูกและแก้ม กรามและคาง ศีรษะ คอ และแม้กระทั่งหมวกปิดศีรษะ "ส่วนเดียวที่ไม่ถูกปกคลุมก็คือลูกตาของไอแซ็ค" ผู้ออกแบบการแต่งหน้าเฉพาะทาง ไบรอัน ไซพ์ กล่าว "ด้วยการใช้ชิ้นส่วนคลุมศีรษะและลำคอ รวมถึงเครื่องแต่งกายอีกยี่สิบชิ้น กระบวนการทั้งหมดนี้ก็เลยเหมือนการต่อภาพจิ๊กซอว์ขนาดยักษ์" เขาเสริม ส่วนหนึ่งที่โดดเด่นในงานออกแบบอะพอคคาลิปส์คือ "เกลียวเดรดล็อค" ที่ดูคล้ายโลหะ ความท้าทายอยู่ที่การทำชุด "ให้ดูยิ่งใหญ่บนร่างกายคนธรรมดา ขณะเดียวกันก็ช่วยให้นักแสดงเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วและทรงตัวได้ดี" ไซพ์กล่าว ทีมงานยังต้องช่วยให้ไอแซ็คเย็นสบายในสภาพอากาศร้อนชื้นของมอนทรีออลในช่วงฤดูร้อน "เราใช้ระบบที่เรียกว่าคูลเชิ้ต" ไซพ์กล่าวต่อ "มันเป็นระบบทำความเย็นคล้ายกับที่นักแข่งรถใช้กัน ออสการ์ได้ต่อท่อเข้ากับน้ำเย็นตลอดเวลาที่ไม่ได้ถ่ายทำอยู่เพื่อรักษาอุณหภูมิไม่ให้ร้อนเกินไป"
ทีมงานใช้กระบวนการพิเศษในการสร้างเสียงของอะพอคคาลิปส์ ซิงเกอร์อธิบายว่า "เราใช้เสียงของออสการ์ตลอด แต่ในขั้นตอนการอัดเสียงเพิ่มเติม นอกเหนือจากการใช้ไมโครโฟน Sennheiser แบบมาตรฐานแล้ว ผมยังวางไมค์เบสใกล้แก้มด้านขวาและวางไมค์กระเดื่องไว้ใกล้แก้มด้านซ้ายเหมือนไมค์สำหรับนักดนตรี เพื่อที่ผมจะได้ดึงเอาโทนเสียงซึ่งปกติแล้วหูคนเราไม่ได้ยินออกมา พอมีไมโครโฟนสามตัวจ่ออยู่ที่หน้า ออสการ์ก็เลยต้องวางศีรษะให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องตลอดเวลา"
หัวหน้าฝ่ายแต่งหน้าสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ เอเดรียน โมโรต์ (X-MEN: DAYS OF FUTURE PAST) และทีมงาน ทำงานในส่วนของไนท์ครอว์เลอร์และจตุรอาชายุคโบราณของอะพอคคาลิปส์ สำหรับหนึ่งในจตุรอาชาอย่าง "เดธ" ทีมงานได้แรงบันดาลใจจากทะเลทรายและปิรามิดมาสร้างเป็นรูปลักษณ์ที่ดูแห้งแตกคล้ายมัมมี่ โดยมีผิวหนังดูเหมือนแผ่นหนังสัตว์เก่า "ครึ่งหนึ่งของใบหน้า มือ และลำตัวของเดธดูเหมือนก้นแม่น้ำที่แห้งเหือด" โมโรต์อธิบาย "[จตุรอาชา] เพสทิเลนซ์ดูคล้ายสัตว์น้ำเฉดสีน้ำเงินซึ่งมีแผลเป็นคีลอยด์อยู่บนใบหน้าและมีดวงตาสีเทาอันทรงอำนาจ ส่วนศีรษะทั้งหมดเป็นชิ้นส่วนเทียมทีมงานจึงทำรอยแผลเป็นไว้บนนั้นด้วย "เพสทิเลนซ์เป็นตัวละครที่น่ากลัวแต่ก็งดงาม คุณจะรู้สึกสงบเมื่อมองดูเขา แต่เขาก็จะฆ่าคุณทันทีหลังจากนั้น" โมโรต์กล่าวกลั้วหัวเราะ
ในงานคอมิก ไนท์ครอว์เลอร์มีรูปร่างเพรียวบางและองค์ประกอบต่างๆ ที่แทบจะเหมือนแมว หูของเขาตั้งเฉียงขึ้นคล้ายแมวป่า ดวงตาเหมือนเสือดำ เพื่อให้ได้รูปลักษณ์แบบยุค 1980 รวมถึงให้คล้ายกับไนท์ครอว์เลอร์ที่ อลัน คัมมิง แสดงไว้ใน X2 โมโรต์จึงหล่อโครงศีรษะของนักแสดง โคดี สมิท-แม็คฟี เอาไว้เพื่อทำชิ้นส่วนเทียม นอกจากนี้ยังต้องหล่อช่วงลำตัวเพื่อทำหางให้สมิท-แม็คฟีด้วย โมโรต์ทำงานร่วมกับ MAC Makeup เพื่อคิดค้นรองพื้นสูตรพิเศษที่มีเนื้อด้านและติดคงทนเป็นสีต่างๆ สำหรับสร้างรูปลักษณ์ของไนท์ครอว์เลอร์ขึ้นมา
ทีมงานของโมโรต์ยังได้ออกแบบหางซึ่งเคลื่อนไหวได้ของไนท์ครอว์เลอร์จากสิ่งที่เขาเรียกว่า "โครงภายในที่มีแรงดึง" เมื่อใดก็ตามที่นักแสดงขยับ หางก็จะเคลื่อนไหวด้วยตัวของมันเอง โมโรต์ประหลาดใจที่วิธีนี้สามารถสร้างการเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติได้โดยไม่ต้องใช้กลไกใดๆ เลย ในช่วงท้ายของการถ่ายทำ สมิท-แม็คฟีต้องใช้เวลาในการแปลงโฉมราวหนึ่งชั่วโมงสี่สิบห้านาที ทั้งการติดชิ้นส่วนเทียม การแต่งหน้า ฟัน ดวงตา เกราะหุ้มลำตัวซึ่งช่วยพยุงหางที่ขยับได้ เท้า และมือ "ความท้าทายอยู่ที่การทำให้ภาพของไนท์ครอว์เลอร์ดูสมจริงและต้องทำซ้ำเดิมทุกๆ วันที่เขาต้องเข้าฉาก" โมโรต์กล่าว "และที่สำคัญคือต้องตรงใจแฟนๆ ที่วาดภาพเอาไว้ว่าตัวละครนี้ควรมีหน้าตาเป็นอย่างไรด้วย"
นักออกแบบเครื่องแต่งกาย ลุยส์ มินเกนบาค อาศัยข้อมูลและคลังเสื้อผ้าจากร้านให้เช่าเครื่องแต่งกายหลายแห่งในสหรัฐและมอนทรีออล รวมทั้งตระเวนตามร้านขายเสื้อผ้าวินเทจทั่วอเมริกาเหนือ เพื่อควานหาเครื่องแต่งกายนับพันๆ ชิ้นมาแต่งตัวให้นักแสดงที่ต้องใส่เสื้อผ้ายุค 1980 ทั้งในฉากไคโร เยอรมนีตะวันออก และสหรัฐ เธอประเมินว่า เมื่อการถ่ายทำสิ้นสุดลง ทางกองถ่ายมีเครื่องแต่งกายรวมทั้งหมดเกือบ 100,000 ชิ้น และแต่งตัวให้คนไปประมาณ 2,000 ถึง 3,000 คน
สำหรับมินเกนบาค ขั้นตอนที่ช่วยกระตุ้นความคิดมากที่สุดในกระบวนการนี้คือการระดมสมองกับซิงเกอร์ โดยเธอเคยร่วมงานกับผู้กำกับรายนี้มาแล้วเจ็ดครั้ง "ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ตรงจุดนั้นเองที่เราใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่" เธอกล่าว
มินเกนบาคยังได้กล่าวถึงฉากขบวนแห่ในอียิปต์โบราณเป็นพิเศษ "มีชาวนูเบียนถือพัด คนแบกเรือ จตุรอาชาทั้งสี่ และการปรากฏตัวสองครั้งของอะพอคคาลิปส์" เธออธิบาย ระหว่างการถ่ายทำฉากนี้ต้องมีคนช่วยแต่งตัว 30 คนอยู่ในกองถ่าย ทีมงานกลุ่มนี้ทำงานตั้งแต่ตีสี่เพื่อให้ทุกคนพร้อมเข้ากล้อง
เครื่องแต่งกายของอะพอคคาลิปส์เป็นส่วนหนึ่งที่ยากและมีรายละเอียดมากที่สุด เมื่อเลือกออสการ์ ไอแซ็คเข้ามารับบทแล้ว ภาพวาดตัวละครทั้งหมดจะถอดแบบจากร่างกายของเขา โดยลงลึกถึงรายละเอียด เช่น โหนกแก้มและความยาวช่วงลำคอ ช่วงก่อนการถ่ายทำ ทีมงานใช้เวลาหลายเดือนทดสอบเนื้อผ้า สีสัน และพื้นผิว "ผ้าทั้งหมดที่ใช้แต่งตัวให้ออสการ์ผลิตขึ้นเพื่อตัวละครตัวนี้เป็นพิเศษ" มินเกนบาคกล่าว "เรามีเวลาประมาณสี่เดือนในการออกแบบและผลิตเครื่องแต่งกาย ซึ่งเวลาเท่านี้ก็แทบจะไม่พอ" ต้องใช้คนช่วยสองหรือบางครั้งก็สามคนในการใส่และถอดเครื่องแต่งกายนี้ โดยกระบวนการแต่ละครั้งอาจใช้เวลากว่า 30 นาที
งานออกแบบเครื่องแต่งกายของอะพอคคาลิปส์กลายเป็นแนวทางให้เครื่องแต่งกายของกลุ่มตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ยุคใหม่ มินเกนบาคต้องการให้ตัวละครดูเป็นทีมเดียวกัน "เป็นนักรบที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน" เธอกล่าว ทีมงานของเธอออกแบบปีกของแองเจิลซึ่งก็ได้รับการอนุมัติจากซิงเกอร์แล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพราะปีกเกะกะเกินไปสำหรับการแสดงในฉาก ภาระจึงไปตกอยู่ที่ฝ่ายวิชวลเอฟเฟ็กต์แทน เครื่องแต่งกายของเบน ฮาร์ดี ทำจากผ้าเนื้อละเอียดที่มีความยืดหยุ่นสูงกว่าชุดอื่นๆ เพื่อให้เอื้อต่อการเคลื่อนไหวฉวัดเฉวียนในฉากบิน
ซิงเกอร์ยืนยันมาตลอดให้นำหนังสือคอมิกมาใช้อ้างอิงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับสตอร์มนั้น มินเกนบาคได้แรงบันดาลใจจากเครื่องแต่งกายในคอมิกบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวเส้น สีสัน และอิทธิพลจากอียิปต์โบราณ จตุรอาชายุคโบราณ และจตุรอาชายุคใหม่ เครื่องแต่งกายในยุคอียิปต์โบราณและยุคปี 1983 นั้นให้ภาพที่สัมพันธ์สอดคล้องกันอย่างชัดเจน
เครื่องแต่งกายของไซล็อกซึ่งรับบทโดยโอลิเวีย มันน์ ถอดแบบมาจากหนังสือคอมิกโดยตรง "ถ้าพูดถึงรูปลักษณ์ของเธอ ฉันมองว่าการทำให้แฟนๆ พอใจเป็นเรื่องสำคัญมาก" มันน์กล่าว "เพราะตัวฉันเองก็เป็นแฟนคนหนึ่งเหมือนกัน" ความยากอยู่ที่การทำให้เครื่องแต่งกายเหมาะกับฉากแอ็คชันหนักหน่วงที่เธอต้องเล่น "เธอแทบจะไม่ใส่อะไรเลย" มินเกนบาคกล่าว ทีมงานฝ่ายสตันท์ช่วยทำสายรัดให้น้อยที่สุดเพื่อให้นักแสดงเล่นฉากบู๊โดยไม่ต้องมีสายรัดเทอทะแบบเก่าอยู่ข้างใต้ ความท้าทายอีกข้อหนึ่งก็คือการใส่และถอดชุดของมันน์ไม่ใช่เรื่องง่าย "ทุกวันที่ถ่ายทำก็เหมือนเธอต้องเอาตัวใส่ลงไปในถุงยางยักษ์ มันเป็นชุดลาเท็กซ์ที่ทำจากร้านเซ็กส์ช็อปในลอสแองเจลีส" มินเกนบาคกล่าวพร้อมกับหัวเราะ
สำหรับฉากเบอร์ลินตะวันออกปี 1983 มินเกนบาคอธิบายว่า "ทุกอย่างดูหม่นลง ดูล้าหลังอยู่บ้าง เหมือนมาจากทศวรรษก่อน" ทีมงานแต่งตัวให้คนงานในโรงงาน หมอ เจ้าหน้าที่ตำรวจของหน่วยสตาซี หญิงบริการ และบรรดาคุณย่าคุณยาย ทีมงานทำงานร่วมกับแกรนต์ เมเจอร์ เพื่อวางภาพให้อยู่ในกรอบที่จำกัดและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ในเวสต์เชสเตอร์ นิวยอร์ก คฤหาสน์เอ็กซ์มีสีสันสดใสในแบบอเมริกายุค 1980 "เต็มไปด้วยแสงนีออน ลายทาง และลายจุด" มินเกนบาคกล่าว ทีมงานได้แรงบันดาลใจจากผู้นำด้านสไตล์ในยุคนั้น "เช่น บอย จอร์จ, ไมเคิล แจ็กสัน และบรูก ชีลด์ส" นักออกแบบเครื่องแต่งกายนำเสนอยุคแปดศูนย์โดยลดความจัดจ้านลงเล็กน้อย "การนำเสนอช่วงต้นยุคแปดศูนย์ไม่ใช่เรื่องง่าย สมัยนั้นเสื้อผ้าและเครื่องประดับมากันแบบจัดเต็ม เราก็เลยต้องลดระดับลงมาบ้างไม่ให้มันฉูดฉาดหรือรำคาญตามากเกินไป"
ในการแต่งตัวให้หนุ่มสาวมนุษย์กลายพันธุ์ที่โรงเรียนของเซเวียร์ มินเกนบาคยังคงยึดแนวทางตามแบบคอมิก เธอทำงานกับโซฟี เทอร์เนอร์ ผู้รับบทจีน เกรย์ โดยคำนึงถึงเรื่องที่ว่านักแสดงรายนี้มีผมสีแดงเช่นเดียวกับตัวละครในหนังสือคอมิก "โซฟีเป็นสาวสวย" มินเกนบาคกล่าว "แต่บางครั้งเราก็อยากเห็นเธอดูเก้งก้างหรืออึดอัดบ้าง" ในตอนเปิดเรื่อง จีนยังไม่รู้จะทำตัวอย่างไรดี ดังนั้นเสื้อผ้าที่เลือกมาจึงเน้นการปกปิดตัวเองเป็นพิเศษ ทำให้เธอรู้สึกว่าได้รับการปกป้อง "เหมือนห่อหุ้มตัวเธอเอาไว้" มินเกนบาคกล่าว ในฉากส่วนใหญ่ก่อนถึงฉากต่อสู้ในตอนสุดท้าย เธอใส่เบลเซอร์ผู้ชายตัวโคร่งไม่มีทรงประดับแผงไหล่
สำหรับไนท์ครอว์เลอร์ซึ่งรับบทโดยโคดี สมิท-แม็คฟีนั้น สิ่งแรกที่มินเกนบาคต้องจัดการคือชุดที่เขาใส่ในฉากสำคัญที่สังเวียนต่อสู้ เธอพบแจ็คเก็ตเก่าในกองเสื้อผ้าใช้แล้วจาก "ห้องหลังร้านสุดเพี้ยน" ของร้าน Western Costume ในลอสแองเจลีส "มันเป็นแจ็คเก็ตละครสัตว์เก่าๆ ที่มีรอยเปื้อนและมีหางแหลมที่มีเชือกโยงเข้าด้วยกัน" มินเกนบาคกล่าว "โคดีมีโครงร่างที่เหมาะกับเสื้อ เราจึงทำแจ็คเก็ตตัวนี้ขึ้นมาใหม่และจับคู่กับกางเกงยุคแปดศูนย์ที่สองข้างไม่เท่ากัน เราเพิ่มลุคแบบบอย จอร์จลงไปนิดหน่อย และในฉากที่คฤหาสน์ เราก็พยายามให้ไนท์ครอว์เลอร์ดูเหมือนในคอมิก โดยใช้ชุดที่เป็นรูปแนวทแยงสีแดงดำซึ่งแฟนๆ จะต้องจำได้"
ในการแต่งตัวให้จูบิลี มินเกนบาคมีเครื่องแต่งกายกว่า 20 ชุดที่ออกแบบให้นักแสดงลานา คอนดอร์ "ฉันน่าจะปาลูกดอกในความมืดแล้วเลือกมาซักชุดนะ" คอนดอร์กล่าว สุดท้ายแล้วเครื่องแต่งกายของเธอก็เป็นชุดกระโปรงยาว ถุงน่อง รองเท้าบู๊ต และเสื้อที่ไหล่ห้อยลงข้างหนึ่ง "เราจะเห็นอิทธิพลจาก FLASHDANCE อยู่เต็มไปหมดในชุดของจูบิลี" มินเกนบาคกล่าว
ในปี 1983 อาจารย์แฮงค์ แม็คคอย เริ่มเป็นผู้ใหญ่แล้ว มินเกนบาคจัดชุดสูทที่ดูเนี้ยบแต่ก็ยังเป็นแบบลำลองให้ โดยเรียกว่า "ชุดบีสที" และซิงเกอร์ก็คิดว่าชุดนี้ดูคล้ายเสื้อผ้าที่พ่อของเขาใส่ในยุคแปดศูนย์ โฮลต์ตื่นเต้นกับรายละเอียดในเสื้อผ้าของเขามาก "ผมได้นาฬิกาเครื่องคิดเลข Casio จากยุคแปดศูนย์มาซึ่งใช้ประโยชน์ได้ดีมากเลยล่ะครับ" เขาพูดติดตลก
สำหรับเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์นั้น มินเกนบาคคำนึงถึงแนวทางการปฏิบัติงานของเรเวน "เธอต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และไม่ได้สนใจมากนักว่าตัวเองดูเป็นอย่างไร" นักออกแบบกล่าว เธอจัด "ลุคแบบคริสซี ไฮนด์" ให้ลอว์เรนซ์ ด้วยเสื้อแจ็คเก็ตหนังตอกหมุดและเสื้อยืดร็อคแอนด์โรลล์รุ่นเก่า "ปี 1983 เป็นยุครุ่งเรืองของสาวร็อค" มินเกนบาคกล่าว "และรูปลักษณ์แบบนี้ก็สะท้อนถึงความเป็นกบฏของเรเวนด้วย"
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบชุดเอ็กซ์เม็นไม่ใช่แค่การใช้งานจริงและความฉูดฉาดของยุคแปดศูนย์ แต่มันยังต้องดูเหมือนสิ่งที่พัฒนาโดยกองทัพด้วย และชุดนี้ก็ต้องดูดีไม่ว่าคนใส่จะเป็นเอ็กซ์เม็นชายหรือหญิง ซึ่งตัวละครที่ใส่ก็ได้แก่ แฮงค์ มอยรา เรเวน ควิกซิลเวอร์ จีน สก็อตต์ และไนท์ครอว์เลอร์ "เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งเลยล่ะค่ะที่จะต้องออกแบบชุดที่จีน เกรย์ใส่แล้วดูดีพอๆ กับเวลาที่ให้บีสต์ใส่"
มายากลวิชวลเอฟเฟ็กต์
ผู้ควบคุมวิชวลเอฟเฟ็กต์ที่ชนะรางวัลออสการ์มาแล้วสองครั้ง จอห์น ดิกสตรา มีประวัติการทำงานยาวเหยียดจนสลักเต็มปิรามิดได้ ประสบการณ์ของเขาทำให้การสลับสับเปลี่ยนระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกในจินตนาการเกิดขึ้นได้อย่างไม่สะดุด ถ้าซิงเกอร์เป็นกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านของเอ็กซ์เม็นและความสามารถพิเศษของฮีโร่กลุ่มนี้ ดิกสตราก็ต้องเป็นนักมายากลผู้ทำให้คำพยากรณ์ของเขากลายเป็นจริง
"ซูเปอร์ฮีโร่ทำอะไรไม่ได้หรอกถ้าไม่มีวิชวลเอฟเฟ็กต์" ดิกสตรากล่าวขำๆ "พลังทั้งหมดของเอ็กซ์เม็นดูยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ก็เพราะวิชวลเอฟเฟ็กต์ เรามีคนที่ใช้พลังคลื่นเสียง เป็นเสียงคลื่นความถี่ต่ำที่ใช้ทำลายศัตรู เรามีอีกคนหนึ่งที่ควบคุมความร้อนและปล่อยพลังโจมตีเป็นคลื่นความร้อน ขณะที่อีกคนก็มีพลังจิตควบคุมการเคลื่อนที่ของวัตถุ การแสดงภาพของพลังต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของเรื่อง เป็นการแสดงให้เห็นการใช้พลังเหล่านี้ในรูปแบบต่างๆ และสร้างความรู้สึกสมจริงในสถานการณ์ที่ดูไม่น่าจะเป็นจริงได้เลย"
การถ่ายทำในระบบสเตอริโอสามมิติตั้งแต่ต้นช่วยเพิ่มมิติให้การร่ายมายากลครั้งนี้ ดังนั้นฝ่ายวิชวลเอฟเฟ็กต์จึงต้องจัดการกับ "the wrap" ซึ่งก็คือความสามารถในการมองเห็นขอบโดยรอบของวัตถุ "มันเปลี่ยนแปลงการวางตำแหน่งสิ่งต่างๆ ในการจัดองค์ประกอบ ลักษณะของวัตถุที่ทะลุขอบเฟรมออกมา รวมถึงความสว่างของวัตถุเพื่อรักษารายละเอียดเอาไว้ แล้วสร้างภาพสำหรับสายตาแต่ละข้างทำให้เกิดเป็นรูปทรงขึ้นมา" ดิกสตราอธิบาย เขาบรรยายกระบวนการนี้ว่า "โดยคร่าวๆ ก็เหมือนความแตกต่างระหว่างภาพสีกับภาพขาวดำ แต่ก็ไม่ได้ยากไปกว่าเรื่องอื่นๆ ผู้ชมต้องการเห็นภาพที่ละเอียดซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และการไปให้ถึงระดับนั้นก็เป็นความท้าทายสำคัญสำหรับเราเสมอ"
...ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าเดิม
ขณะปรับแต่งงานขั้นตอนสุดท้ายใน X-MEN: APOCALYPSE ซิงเกอร์ระบุว่าแม้ผลงานการกำกับครั้งล่าสุดของเขาอย่าง X-MEN: DAYS OF FUTURE PAST ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่หนังภาคใหม่นี้ก็ยิ่งใหญ่กว่าในหลายๆ แง่ "ในแง่ขอบเขตและงานภาพ เรื่องนี้ยิ่งใหญ่กว่ามากครับ DAYS OF FUTURE PAST เกี่ยวข้องกับการย้อนเวลา หุ่นยนต์ แล้วก็เป็นการบุกปล้นซะเยอะเลย! แต่ภาคนี้เป็นการทำลายล้างโลก ตัวละครที่เหมือนเทพเจ้า...เป็นหนังที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมมาก แต่เราไม่เคยละทิ้งเรื่องความคิดจิตใจและตัวละคร เรายังคงยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้เพราะว่ามันสำคัญมาก แต่ภาคนี้จะต้องยิ่งใหญ่ตระการตามากขึ้นกว่าเดิมแน่นอนครับ"
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/xmenmoviesth
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit