นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 หลายพื้นที่ของประเทศ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนัก โดยมีพื้นที่ได้รับความเสียหายจากพายุลมแรง 2 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ บ้านเรือนเสียหาย 22 หลัง ลพบุรี บ้านเรือนเสียหาย 2 หลัง รวมถึงเกิดภาวะน้ำท่วมขังจากการระบายน้ำไม่ทันใน 2 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ชลบุรี ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำที่ท่วมขัง จัดเจ้าหน้าที่อำนวยการจราจร และดำเนินการเก็บกวาดต้นไม้ สิ่งปลูกสร้างที่ล้มกีดขวางเส้นทางจราจร รวมถึงสนธิกำลังหน่วยทหารซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนและสิ่งสาธารณะประโยชน์ให้ใช้งานได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกมาในระยะนี้เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้มีฝนตกในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน หลายพื้นที่ยังคงมีสถานการณ์ภัยแล้ง โดยขณะนี้มีจังหวัดประกาศ เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 35 จังหวัด 213 อำเภอ 1,087 ตำบล 8,711 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 14.98 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ น่าน พิจิตร ลำพูน ตาก สุรินทร์ ชัยนาท สระบุรี ชลบุรี ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ และพังงา จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี และจันทบุรี จังหวัดที่มีปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ นครราชสีมา เพชรบุรี ตราด สตูล กระบี่ นครศรีธรรมราช หนองบัวลำภู สุพรรณบุรี สระแก้วขอนแก่น ปราจีนบุรี ลำปาง อุทัยธานี และกำแพงเพชร ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย พร้อมสูบน้ำจากแหล่งน้ำดิบและน้ำรถบรรทุกน้ำไปเติมในภาชนะกลางประจำหมู่บ้าน ตามวงรอบการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนเครื่องสูบน้ำระยะไกลดำเนินการสูบน้ำเข้าพื้นที่เกษตรกรและแหล่งน้ำดิบ ในการผลิตน้ำประปา ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในปลายสัปดาห์วันที่ 18 – 20 พฤษภาคม 2559 ประกอบกับอิทธิพลความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมด้านตะวันออกของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ กับมีลมพัดสอบของลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลาง มีฝนตกต่อไปอีก 1 – 2 วัน จึงได้ประสานให้จังหวัดเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย อีกทั้งตรวจสอบสิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันการล้มทับ ก่อให้เกิดอันตรายได้ กรณีสถานการณ์รุนแรงได้เน้นย้ำให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit