โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 มุ่งเน้นสืบสานมรดกวัฒนธรรมและความยั่งยืน พร้อมศึกษา IEE และ EIA

12 May 2016
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) ซึ่งดำเนินงานศึกษาวิจัยทางวิชาการ สำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทระยะ 57 กม. และระยะนำร่อง 14 กม. เพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ณ ห้องอมรินทร์ โรงแรม เอส. ดี. อเวนิว ปิ่นเกล้า จากภาคประชาชน หน่วยงาน องค์กร และภาคส่วนต่างๆ ในการฟื้นฟูแม่น้ำ พัฒนาภูมิทัศน์วัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่สาธารณะของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมถึงประเด็นสำคัญทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยแนวทางสืบสานอนุรักษ์อย่างบูรณาการ พัฒนาจากพื้นฐาน "มรดกวัฒนธรรม" เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน พร้อมรายงานความก้าวหน้าและลงพื้นที่ศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม IEE และ EIA
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1  มุ่งเน้นสืบสานมรดกวัฒนธรรมและความยั่งยืน พร้อมศึกษา IEE และ EIA

รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา(Chao Phraya for All) กล่าวว่า การจัดเวทีสาธารณะในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำโครงการ ชี้แจงเหตุผลความจำเป็น นำเสนอสาระสำคัญ พื้นที่ศึกษาโครงการ แผนการดำเนินงาน แนวทางศึกษาของโครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับให้ทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมประชุมได้รับทราบถึงข้อมูลและจุดยืนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันอีกครั้ง พร้อมเปิดรับฟังความเห็นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูแม่น้ำเจ้าพระยา พัฒนาภูมิทัศน์ และโครงข่ายทางเดิน-ปั่น เชื่อมต่อพื้นที่สีเขียว นันทนาการ วัฒนธรรม ระบบขนส่งสาธารณะ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้มีความสมบูรณ์ครอบคุลมทุกมิติ ซึ่งจะสรุปและนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป ส่วนความคืบหน้าของโครงการในเดือนแรกจะเน้นไปที่การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเป็นหลัก ส่วนงานด้านอื่นๆ คณะทำงานก็ได้เดินหน้างานแต่ละส่วนตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.ดร.วันเพ็ญ วิโรจนกูฎ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา(Chao Phraya for All) กล่าวว่า ในการเตรียมการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ช่วงเดือนมีนาคม 2559 คณะทำงาน ได้ศึกษาทบทวนข้อมูลทุติยภูมิ ข้อกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านสิ่งแวดล้อม และรายงานผลการศึกษาโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ พร้อมทั้งได้จัดเตรียมข้อมูลทุติยภูมิสำหรับการเตรียมจัดทำร่างรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โครงการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะ 57 กม. (แผนแม่บท) โดยมีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับการจัดทำรายงานดังกล่าว ดังนี้ 1.) ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ 2.) ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมด้านชีวภาพ 3.) คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และ 4.) คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต

ส่วนการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในเดือนเมษายน เนื่องจากแบบยังไม่เสร็จ เราจึงเตรียมการวางแผนงานไว้ ดังนี้ 1.เตรียมแบบร่างรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) 2.) วางแผนการออกสำรวจภาคสนามและกำหนดกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น ในการสำรวจความคิดเห็นข้อมูลสภาพเศรษฐกิจสังคมของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชน ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ศึกษาบริเวณพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร 3.) วางแผนการออกสำรวจภาคสนามในการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมในช่วงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมช่วงสะพานพระราม 7 – สะพานพระปิ่นเกล้า ระยะทางนำร่อง 14 กม. ได้แก่ ระดับเสียง ในชุมชนหรือสถานที่อ่อนไหวต่อการได้รับผลกระทบ 4 สถานี ได้แก่ สถานีที่ 1 วัดตึก สถานีที่ 2 โรงพยาบาลวชิระ (ด้านริมน้ำ) สถานีที่ 3 วัดราชาธิวาส สถานีที่ 4 วัดคฤหบดี เป็นเวลาสถานีละ 5 วันต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งวันทำงานและวันหยุดราชการ คุณภาพอากาศ ในชุมชนหรือสถานที่อ่อนไหวต่อการได้รับผลกระทบอย่างน้อย 2 สถานี ได้แก่ สถานีที่ 1 โรงพยาบาลวชิระ (ด้านริมน้ำ) และสถานีที่ 2 วัดคฤหบดี โดยเก็บตัวอย่างสถานีละ 5 วันต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งวันทำงานและวันหยุดราชการ ซึ่งการตรวจวัดมลสารจะใช้วิธีการที่เป็นที่ยอมรับของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (US. EPA) ความสั่นสะเทือน ตามดัชนี Peak particle velocity และความถี่ ในชุมชนหรือสถานที่อ่อนไหวต่อการได้รับผลกระทบอย่างน้อย 2 สถานี ได้แก่ สถานีที่ 1 โรงพยาบาลวชิระ (ด้านริมน้ำ) และสถานีที่ 2 วัดคฤหบดี และ คุณภาพน้ำและนิเวศวิทยาทางน้ำ การตรวจวัดคุณภาพน้ำจะทำการเก็บตัวอย่างโดยใช้กระบอกเก็บตัวอย่างน้ำ (Water Sampler) ทำการเก็บน้ำที่บริเวณจุดกึ่งกลางลำน้ำและกึ่งกลางความลึกของลำน้ำ อย่างน้อย 3 สถานี ที่ในแม่เจ้าพระยา สถานีที่ 1 บริเวณใต้สะพานพระราม 7 (ต้นโครงการ) สถานีที่ 2 บริเวณหน้าวัดอาวุธวิกสิตาราม (กึ่งกลางโครงการระหว่างสะพานพระราม 7 กับสะพานพระปิ่นเกล้า) และสถานีที่ 3 ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า (ปลายโครงการ) ส่วนนิเวศวิทยาทางน้ำในการสำรวจภาคสนามจะเน้นสิ่งมีชีวิตในน้ำเป็นหลักทั้งชนิดและปริมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพลงก์ตอนพืช (Phytoplankton) และแพลงก์ตอนสัตว์ (Zooplankton) โดยเก็บตัวอย่างจาก 3 สถานีเดียวกับการตรวจวัดคุณภาพน้ำ และ 4.) การวิเคราะห์สภาพสิ่งแวดล้อมปัจจุบันช่วงสะพานพระราม 7 – สะพานพระปิ่นเกล้าระยะทางไป – กลับ 14 กม.เพื่อนำไปประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี โฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ขณะนี้โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยในครั้งนี้เป็นการเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นแบบวงกว้างครอบคลุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะ และมุมมองต่างๆ อย่างรอบด้าน หลังจากที่ก่อนหน้านี้คณะทำงานได้จัดลงพื้นที่จัดประชุมรับฟังความเห็นกลุ่มย่อย (Focus Group) ครั้งที่ 1 จำนวน 32 ชุมชน ในระยะนำร่อง 14 กม. และประชุมหารือกับตัวแทนเจ้าหน้าที่เขต และชุมชน รวม 17 เขต ตลอดพื้นที่ศึกษาโครงการ 57 กม. และประชุมหารือกับหน่วยงานราชการ ศาสนสถาน และภาคเอกชน ริมน้ำ รวมทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึกนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปแล้ว 1 ครั้ง ข้อสรุปในภาพรวมพบปัญหาของชุมชนมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ได้แก่ ปัญหาน้ำท่วมขังซึ่งเกิดจากเขื่อนรั่วซึมและกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปัญหาเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาสูงจนบดบังทางลมและทิวทัศน์ริมน้ำ ปัญหาการรุกล้ำสร้างที่พักอาศัยบนแม่น้ำ พบว่ามีจำนวน 10 ชุมชน รวม 285 ครัวเรือน ซึ่งคณะทำงานโครงการทำงานร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. เข้ามาจัดกระบวนเพื่อพัฒนาชุมชน เช่น การทำกลุ่มออมทรัพย์ สร้างความเป็นชุมชนให้แข็งแรง และร่วมกับชุมชนหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการอยู่อาศัยต่อไป รวมถึงปัญหาเส้นทางสัญจรภายในชุมชนคับแคบและขาดพื้นที่สาธารณะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะว่า ต้องการให้เพิ่มพื้นที่สาธารณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยคำนึงถึงประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงความปลอดภัยชุมชนริมน้ำ

ขั้นตอนต่อไปของกระบวนการมีส่วนร่วม คือ จัดประชุมรับฟังความเห็นกลุ่มย่อย (Focus Group) ครั้งที่ 2 จำนวน 32 ชุมชน ในระยะนำร่อง 14 กม. ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. 59 เป็นต้นไป เพื่อสรุปข้อเสนอแนะและปัญหาต่างๆ จากการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 และเตรียมทำ "กระบวนการโบราณคดีชุมชน" เพื่อร่วมกันถอดองค์ความรู้ทางมรดกวัฒนธรรมและนำไปต่อยอดพัฒนาอย่างยั่งยืน

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีแผนจัดเวทีสาธารณะการมีส่วนร่วมของประชาชนอีก 2 ครั้ง ได้แก่ การจัดประชุมเพื่อนำเสนอรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมของโครงการ ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน 2559 และจัดประชุมสรุปผลการศึกษาของโครงการในทุกด้านอีกครั้ง ประมาณเดือนกันยายน 2559

อาจารย์รณฤทธิ์ ธนโกเศศ ภูมิสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และชุมชน กล่าวว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) กำลังศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้นเพื่อฟื้นฟูแม่น้ำเจ้าพระยาที่เคยเป็นแม่น้ำสำหรับทุกคนในอดีต กลับมาเป็นแม่น้ำของทุกคนในวันนี้และอนาคตอีกครั้ง ในตอนนี้เราพบว่าสภาพปัจจุบันของแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่สองฝั่งซึ่งเป็นเมืองกำลังเสื่อมโทรมทั้งธรรมชาติและสภาพของวัฒนธรรมสองฝั่งริมน้ำกำลังสูญหายไป และโครงการนี้จะช่วยรักษาธรรมชาติและสืบสานวัฒนธรรม โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำว่า "มรดกวัฒนธรรม" สจล. ไม่เพียงพัฒนาโดยการทำทางเดินหรือทางจักรยานเพียงอย่างเดียว คณะทำงานจะใช้กระบวนการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืน เน้นการบูรณาการอนุรักษ์ พัฒนา สืบสาน และสร้างสรรค์ บนฐานองค์ความรู้ ภูมิปัญญาและประสบการณ์ทางนิเวศน์ธรรมชาติและภูมิทัศน์วัฒนธรรม อีกทั้งผสานกับองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองต่อปัญหาที่ซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้นและยั่งยืนขึ้นภายใต้การมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน อย่างเข้มข้นในทุกมิติ เพื่อการร่วมฟังร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำและร่วมบริหารจัดการ โดยมีกระบวน การเรียนรู้ร่วมกันเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อนำสู่การปฏิบัติ คือ การพัฒนาคนและกายภาพแวดล้อมบนฐานองค์ความรู้ ภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรม โดยใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งคณะทำงานได้มีแนวติดจัดตั้ง "ศูนย์เรียนรู้เจ้าพระยา" อาจจะเป็นรูปแบบของศูนย์เรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์แบบศูนย์ชุมชน สำหรับเยาวชน ชุมชน ประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยว ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องที่น่าสนใจ ประวัติศาสตร์ มรดกวัฒนธรรมริมฝั่ง ยุคสมัยต่างๆ ที่ปรากฏตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงภูมิปัญญาและให้ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ แก่นักท่องเที่ยวด้วย

สำหรับหลักการอนุรักษ์และพัฒนาสำคัญที่เป็นแนวทางดำเนินการของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลและยูเนสโก คือ 1.) Historic Urban Landscape UNESCO (HUL) ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมมากสำหรับเมืองกรุงเทพฯ 2.) Cultural Heritage Impact Assessment UNESCO (CHIA) หรือการประเมินผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรม 3.) Integrated Territorial and Urban Conservation With Cultural Landscape Concept ITUC, ICCROM โดยโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะพัฒนาชุมชนเมืองแบบบูรณาการพื้นที่ทั้งหมดที่มีอยู่เข้าด้วยกัน และการพัฒนาดังกล่าวมีทั้งพื้นที่ริมน้ำและพื้นที่บนแผ่นดินด้วย 4.) Living Heritage ICCROM 5.) กฎบัตรสากลในการอนุรักษ์โบราณสถานและมรดกวัฒนธรรม ICOMOS และ 6.) พระราชบัญญัติโบราณสถานและระเบียบในการอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร

"หลักการที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของทุกคน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในพื้นที่นั้นๆ ต่อไปในอนาคตเพื่อเรียนรู้และตั้งโจทย์ร่วมกัน โดยหวังว่าโครงการนี้จะสร้างหลักการขึ้นมาเป็นตัวอย่างให้นานาประเทศในโลกนำไปใช้ต่อได้ ทั้งนี้หลักการนั้นเราก็จะนำมาใช้ในการสร้างสรรค์และพัฒนา ส่วนพื้นที่การเรียนรู้นั้นต้องบริหารจัดการร่วมกันได้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยาของเรา ยังคงมีคุณค่า มีความรู้ที่มองเห็น และมีความงดงาม ให้ปรากฏต่อไป ขณะเดียวกันทุกครั้งที่โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไปลงพื้นที่ก็จะได้เรียนรู้จากชุมชน และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด นำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาโครงการสู่ความยั่งยืนแห่งชีวิตต่อไป" อาจารย์รณฤทธิ์ กล่าว

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและแสดงข้อคิดเห็นต่อโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้ที่ www.chaophrayaforall.com, Facebook : Chao Phraya for All, ตู้ ปณ. 90 บางซื่อ กทม. 10800, E-mail : [email protected]

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1  มุ่งเน้นสืบสานมรดกวัฒนธรรมและความยั่งยืน พร้อมศึกษา IEE และ EIA