กระทรวงอุตสาหกรรมยุติสัมปทานเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ให้เวลาเหมืองอัคราฯ ถึงสิ้นปี!

12 May 2016
กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศยุติการอนุญาตการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดทั่วประเทศ สำหรับเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ยังเปิดดำเนินการอยู่จะประกอบกิจการได้ถึงสิ้นปี 2559เท่านั้น

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ว่า ตามที่มีประชาชนร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ บริเวณรอยต่อของจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเสนอหนทางแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ โดยมีผู้แทนของกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้ง ๔ กระทรวง และภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ นักวิชาการ ประชาชน และผู้ประกอบการ ขั้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้มีการประชุมไปแล้ว ๓ ครั้ง มีผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพระดับหนึ่ง นอกจากนี้ รัฐมนตรีและผู้บริหารของกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้ง ๔ กระทรวง ได้ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งกลุ่มผู้คัดค้านและกลุ่มผู้สนับสนุน โดยใช้ข้อมูลผลการตรวจสอบจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เพื่อประกอบการลงพื้นที่ด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ทั้ง ๔ กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้มีการหารือร่วมกันถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านต่างๆ สรุปว่า ในปัจจุบันยังคงมีปัญหาเรื่องร้องเรียนและข้อขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ แม้จะยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าปัญหาเรื่องร้องเรียนและผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน เกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ หรือไม่แต่เพื่อประโยชน์ของสังคมและประชาชนเป็นส่วนรวมและแก้ปัญหาความแตกแยกของประชาชนในชุมชนประกอบกับมีคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำไว้เมื่อเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ๒๕๕๗ ว่าการดำเนินการจะต้องโปร่งใส ไม่สร้างมลพิษ ประชาชนไม่ต่อต้าน และยังไม่อนุมัติ จึงมีมติร่วมกัน ดังนี้

1. ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรด้วย

2. ในกรณีของบริษัท อัคราฯ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงาน และเพื่อเตรียมการเลิกประกอบกิจการ จึงเห็นควรให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมทั้งให้บริษัท อัคราฯ เร่งดำเนินการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต

3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนและบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังสิ้นสุดการประกอบกิจการเหมืองแร่และโลหกรรมของบริษัท อัคราฯ ดังนี้

  • กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับดูแลการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่
  • กระทรวงสาธารณสุข ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
  • กระทรวงแรงงาน ดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการตามข้อกฎหมาย ระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง และ บูรณาการส่วนราชการต่างๆเพื่อให้เป็นไปตามมติร่วมกันของทั้ง 4 กระทรวงข้างต้นแล้ว

"กระทรวงอุตสาหกรรม จะประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการ ทั้งด้านการกำกับดูแลการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมือง การดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ทั้งนี้ การช่วยเหลือพนักงานของบริษัท อัคราฯ นอกจากกระทรวงอุตสาหกรรม จะประสานกับกระทรวงแรงงานในการให้ความช่วยเหลือแล้ว จะประสานผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรให้นำเงินกองทุนพัฒนาทิ้งถิ่น ซึ่งมีเงินประมาณ 45 ล้านบาท มาให้การช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบด้วย