จากแรงศรัทธาสู่การ“บวชป่าชุมชน” มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

09 May 2016
การถูกตั้งคำถามจากสังคมเรื่อง "ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม" ที่โดนคุกคามหลังมีภาพภูเขาหัวโล้นในจังหวัดน่านเผยแพร่สู่สื่อ สถานการณ์ดังกล่าวจึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการทำงานของกลุ่มเยาวชนสามเณรโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดปรางค์ อำเภอปัว จังหวัดน่าน
จากแรงศรัทธาสู่การ“บวชป่าชุมชน”  มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

สามเณรณัฐบดี จันต๊ะวงค์ สามเณรมนตรี แซ่โซ้ง สามเณรธิติกรณ์ แซ่โซ้ง สามเณรสถาพร เตชะนันท์ และ สามเณรสมพงษ์ ใจปิง แกนนำสามเณร 5 รูปที่เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน รวมตัวกันขึ้น โดยมีนายยุทธนา พันชน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ภายใต้การสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทำโครงการบวชป่าอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หลังพบว่าปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดน่านเริ่มเข้าขั้นวิกฤติ

จากจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่ผลักดันให้เข้าร่วมโครงการฯ สู่ความตั้งใจที่จะอนุรักษ์และพลิกฟื้นผืนป่าต้นน้ำ รักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม โดยใช้ "ความศรัทธา" เป็นอาวุธ เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าภายใต้ความเชื่อตามหลักพุทธศาสนา มีเป้าหมายคือจัดกิจกรรมบวชป่าชุมชนใน"พื้นที่เนินเขาวัดพระธาตุดอยจอมทอง"บ้านดอนสถาน ตำบลสถาน อำเภอปัว โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพระธาตุเก่าแก่ที่พุทธศาสนิกชนชาวอำเภอปัวนิยมไปเคารพสักการะ และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่างๆ ของชุมชนในท้องถิ่นด้วย

สามเณรณัฐบดี หนึ่งในทีมงานโครงการบวชป่าอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำโครงการนี้ว่า พิธีบวชต้นไม้หรือบวชป่าถือเป็นกุศโลบายในการต่ออายุต้นไม้เพื่อไม่ให้ชาวบ้านตัดไม้ทำลายป่า เป็นการนำความเชื่อทางศาสนามาประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ โดยเชื่อว่าหากนำจีวรมาห่มและทำพิธีบวชไปแล้วชาวบ้านจะไม่กล้าตัดต้นไม้อีก ในอนาคตหากป่ายังคงสมบูรณ์จะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชาวบ้านต่อไป

"ที่ทำโครงการบวชป่าที่นี่เพราะเป็นบ้านเกิดของเณรเอง ขณะเดียวกันรอบๆ พระธาตุมีป่าไม้ที่ยังอุดมสมบูรณ์รายรอบไปด้วยทุ่งนา ซึ่งเป็นที่ทำกินของชาวบ้านในละแวกนั้น และเห็นว่าหากปล่อยทิ้งไว้โดยที่ไม่มีการอนุรักษ์อาจถูกชาวบ้านบุกรุกแผ้วถาง ซึ่งวัดพระธาตุเป็นป่าที่หมู่บ้านกันเขตไว้เป็นป่าชุมชน แต่ยังไม่ได้มีการแบ่งเขตหรือการดูแลอย่างจริงจังอะไรเป็นพิเศษ เมื่อทางกลุ่มไปขออนุญาตทำกิจกรรมผู้นำชุมชนเขาก็ยินดีและสนับสนุนอย่างเต็มที่"

ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มเห็นตรงกันว่า"ป่าชุมชน"ของที่นี่ถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้คนในพื้นที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูให้ป่ามีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ถือเป็นการจัดการทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งในอนาคตคนในชุมชนสามารถใช้ทรัพยากรและผลผลิตจากป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ด้านสามเณรธิติกรณ์เล่าว่า นอกจากกิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการเชิญชวนญาติโยมในพื้นที่มาร่วมพิธีบวชป่าแล้ว ยังประสานงานกับผู้นำหมู่บ้าน 13 หมู่บ้านในตำบลสถาน พร้อมทั้งนิมนต์เจ้าอาวาสและพระสงฆ์ โดยมีการประชาสัมพันธ์ไปยังวัดเพื่อขอบริจาคผ้าเหลืองจากจีวรที่ไม่ได้ใช้แล้วจากน้องๆ เพื่อนๆ และครู เพราะผ้าเหลืองที่ไม่ใช้แล้วถ้าทิ้งไปก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งใช้เวลารวบรวมผ้าเหลืองภายใน 1 สัปดาห์เท่านั้น โดยกิจกรรมดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดีทั้งจากคณะสงฆ์ และฆราวาส"ดีใจที่ได้เป็นจิตอาสาช่วยอนุรักษ์ ทดแทนบุญคุณแผ่นดินเกิดที่เป็นบ้านเกิดของเรา ป่านี้เป็นป่าชุมชนที่สืบทอดมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษไม่อยากให้เป็นภูเขาหัวโล้นเหมือนที่อื่น อยากให้เป็นธรรมชาติที่สวยงามเหมือนตอนที่เณรยังเด็ก" สามเณรณัฐบดีสะท้อนความรู้สึก

หลังจากกิจกรรมการบวชป่าเสร็จสิ้น ทีมงานได้รับโอกาสเข้าร่วมอบรมร่วมกับเพื่อนๆ ในเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ในประเด็นการสำรวจป่าจากพี่เลี้ยงโครงการ โอกาสดังกล่าวทำให้ได้รับความรู้เรื่องการสำรวจป่า การดูแลป่า ซึ่งทีมงานก็ได้นำมาปรับใช้ในการดูแลต้นไม้บริเวณที่บวชป่านั่นเอง

"ตอนแรกที่เรามาสำรวจก็แค่ดูว่ามีต้นไม้ที่จะบวชประมาณเท่าไร แต่พอได้ความรู้จากการอบรมแล้วหลังจากนั้นเมื่อเข้ามาดูแลป่า เณรก็ย้อนมาทำความรู้จักกับต้นไม้ทีหลังว่าต้นอะไรเป็นอะไร โดยสิ่งอยากทำต่อจากนี้คือในส่วนของการประเมินผลป่ารายปีว่าแต่ละปีป่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง สำรวจความอุดมสมบูรณ์ของป่าว่า มีมากขึ้นหรือไม่อย่างไร หรือยังมีการตัดไม้ทำลายป่าอยู่ก็จะมีการรณรงค์พูดคุยจัดการปัญหาเหล่านี้ต่อไป" สามเณรณัฐบดีเล่าถึงกิจกรรมที่ยังอยากจะสานต่อ แม้วันนี้สามเณรทั้ง 5 รูปได้แยกย้ายไปเรียนต่อต่างถิ่นแล้ว แต่ก็ยังฝากฝังรุ่นน้องให้ดูแลสานต่อการรักษาป่าบริเวณวัดพระธาตุจอมทอง รวมทั้งยังมีแผนการที่จะกลับไปประเมินผลความอุดมสมบูรณ์ของป่าทุกๆ ปี

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมที่ทำเกิดจากการ "ตระหนัก" ถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่คุกคามชุมชน ดังนั้น การนำความเชื่อที่ผูกโยงกับบทบาทของพระสงฆ์มาเป็น "กลยุทธ์" ในการร่วมใจของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ถือเป็น "จุดแข็ง" ของโครงการที่สอดคล้องกับความเป็นเพศบรรพชิต ประสบการณ์ในการทำงานยังหล่อหลอมให้เกิดความรับผิดชอบ และตระหนักถึงประโยชน์ของการทำงานเป็นทีมที่เกื้อหนุนกัน จนได้เห็นผลลัพธ์ของงานที่กลายเป็นคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นในชุมชน.///

HTML::image( HTML::image(