ด้าน นายแพทย์ธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคมาลาเรีย เป็นโรคติดต่อที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ ไปกัดคนที่เป็นไข้มาลาเลียแล้ว เชื้อจะเจริญอยู่ในยุง หลังจากนั้นเมื่อยุงมีเชื้อไข้มาลาเรีย ไปกัดบุคคลอื่นก็จะถ่ายเชื้อไข้มาลาเรียให้แก่บุคคลนั้น หลังจากบุคคลที่รับเชื้อแล้วประมาณ 10-14 วันก็จะมีอาการป่วยเป็นไข้มาลาเรีย หรือไข้จับสั่น ซึ่งมีอาการปวดหัว ตัวร้อน ครั่นตัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย ร่างกายออ่นเพลีย ทำงานไม่ไหว เมื่อเป็นนาน ๆ ร่างกายจะซูบซีด และในรายที่เป็นรุนแรงอาจถึงตายได้ในเวลาอันรวดเร็ว
สถานการณ์โรคไข้มาลาเรียของประเทศไทย พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบตามแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยในปี 2558 มีรายงานผู้ป่วยทั้งประเทศจำนวน 24,850 ราย เป็นคนไทย 14,078 ราย ต่างชาติ 10,772 ราย จังหวัดศรีสะเกษมีรายงานผู้ป่วยจำนวน 1,301 ราย ส่วนใหญ่อยู่ที่อำเภอกันทรลักษ์ 353 ราย ขุนหาญ 604 ราย ภูสิงห์ 231 ราย ส่วนในปี 2559 นี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–12 เมษายน จังหวัดศรีสะเกษพบผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียแล้ว 139 ราย ส่วนใหญ่อยู่ที่ อ.กันทรลักษ์ 41 ราย อ.ขุนหาญ 56 ราย และอ.ภูสิงห์ 35 ราย นอกจากนี้ จังหวัดศรีสะเกษยังมีหลักฐานการดื้อยาผสมอนุพันธุ์อาร์ติมิซินิน ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในการรักษาผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียด้วย
ทั้งนี้ วิธีการป้องกันโรคไข้มาลาเรียสามารถทำได้โดยการป้องกันอย่าให้ยุงก้นปล่องกัด ด้วยการนอนในมุ้งหรือมุ้งชุบน้ำยา ใช้ยากันยุงทา ใส่เสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด หากมีอาการปวดหัว ตัวร้อน และสงสัยว่าเป็นไข้มาลาเรีย ควรรีบไปตรวจรักษาที่มาลาเรียคลินิก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ หรือโรงพยาบาลประจำอำเภอได้ทุกแห่งประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit