สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เตรียมขยายพันธุ์ “นกแต้วแล้วท้องดำ” คู่สุดท้ายของไทย ในเรือนหอแห่งความหวัง

26 May 2016
นางเตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำทีมสำรวจพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม ร่วมกับนายโยธิน มีแก้ว และนายคณิต คณีกุล ได้สำรวจพบนกแต้วแล้วท้องดำเพศเมีย 1 ตัว จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีและเป็นการยืนยันว่าสัตว์ป่าสงวนชนิดนี้ยังไม่สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย
สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เตรียมขยายพันธุ์ “นกแต้วแล้วท้องดำ” คู่สุดท้ายของไทย ในเรือนหอแห่งความหวัง

นางเตือนใจ กล่าวว่า ในปี 2550 กรมอุทยานฯ ได้ทำการศึกษาหาแนวทางในการเพาะเลี้ยงนกแต้วแล้ว ทั้งนี้ในระยะเริ่มต้นโครงการได้มีการศึกษาการอนุบาลลูกนกจากการทดลองเลี้ยงลูกนกแต้วแล้วอกเขียว แต้วแล้วลาย และแต้วแล้วธรรมดา จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการอนุบาลลูกนก และในปี 2551 ขณะที่ทางสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสงสำรวจนกและสำรวจหารังนกแต้วแล้วท้องดำ เจ้าหน้าที่ได้สำรวจพบรังนกแต้วแล้วท้องดำอยู่นอกพื้นที่อนุรักษ์และสังเกตว่าแม่นกไม่กกไข่ จึงได้นำลูกนกทั้ง 3 ตัว มาทำการเลี้ยงเพื่อศึกษาหาแนวทางในการอนุรักษ์และเพาะเลี้ยงนกแต้วแล้วท้องดำ จนกระทั่งลูกนกโตเต็มวัย จึงพบว่าเป็นนกแต้วแล้วท้องดำเพศผู้ทั้ง 3 ตัว ขณะที่เลี้ยงดูนกได้ตายเนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงขณะอายุได้ 5 ปี และเถูกตัวต่อต่อยขณะอายุ 6 ปี ทำให้ปัจจุบันคงเหลือนกแต้วแล้วท้องดำเพศผู้ 1 ตัว มีอายุ 8 ปี มีสุขภาพสมบูรณ์และมีการตอบสนองต่อเสียงร้องของนกแต้วแล้วท้องดำดี

นางเตือนใจ กล่าวต่อว่า กรมอุทยานฯ จึงได้ประชุมหารือกับหน่วยงานพื้นที่และเจ้าหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ตัวแทนองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประทศไทย คณะวนศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลจากการประชุมระดมความคิดเห็นจากองค์กรต่าง ๆ ซึ่งแนวทางหนึ่งในนั้นคือการเตรียมความพร้อมนกแต้วแล้วท้องดำเพศผู้เพื่อการเพาะขยายพันธุ์ เพราะนกแต้วแล้วท้องดำเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ และมีความสวยงามมากซึ่งเห็นได้จาการที่มีนักดูนกทั่วโลกเดินทางมาเพื่อชมความงามของนกแต้วแล้วท้องดำ ยังผลให้เกิดรายได้เข้าประเทศมากมาย จึงจำเป็นต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการอนุรักษ์เพื่อยับยั้งไม่ให้นกต้องสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย

"แผนการเตรียมความพร้อมนกแต้วแล้วท้องดำเพศผู้เพื่อการเพาะขยายพันธุ์ จัดทำขึ้นเพราะเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะทำการจับคู่ผสมพันธุ์กันกับนกเพศเมียในพื้นที่ อีกทั้งเป็นโอกาสอันดีที่จะฝึกนกเพศผู้ในกรงเลี้ยงให้มีสัญชาตญาณป่า ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมนกเพศผู้โดยการนำฝึกในกรงขนาด 3x6 เมตร เพื่อให้คุ้นเคยกับพื้นที่เปิดโล่ง พร้อมหาอาหารจากธรรมชาติ เพื่อให้คุ้นเคยกับอาหารที่หลากหลาย ทำการเก็บตัวอย่างเลือด ตรวจโรค และกำจัดปรสิต จัดเตรียมความพร้อมพื้นที่เพื่อรองรับนกเพศผู้ในพื้นที่ ใกล้เคียงกับพื้นที่สำรวจ พบนกเพศเมียในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม อันได้แก่ การสร้างกรงฝึกปล่อย (Soft-Release) ขนาด 5x5 เมตร เพื่อปรับพฤติกรรมให้นกเพศผู้ ทำการจับเพื่อย้ายสัตว์ผู้ล่าในพื้นที่ออกให้หมด จัดสภาพกรงให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย อาจมีการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อสังเกตพฤติกรรมเพิ่มเติมภายในกรงและเป็นการให้นกห่างจากมนุษย์ด้วย รวมถึงการเตรียมความพร้อมเรื่องการระวังภัยให้กับนก การประชาสัมพันธ์คนในพื้นที่ รวมถึงการติดป้ายประกาศห้ามเข้าในพื้นที่ตั้งกรง เฝ้าสังเกตพฤติกรรมการตอบสนองของนกเพศเมียต่อการร้องและการปรากฏของนกเพศผู้ ซึ่งหากนกเพศเมียมีการเคลื่อนที่เข้าหานกเพศผู้ สังเกตพฤติกรรมมีการเกี้ยวพาราสีหรือแนวโน้มที่จะจับคู่กัน ก็จะดำเนินการล้อมกรงขนาดใหญ่ (ขนาดไม่น้อยกว่า 1 ไร่) เพื่อเป็นเรือนหอแห่งความหวังครอบนกทั้งสองตัวไว้ด้วยกัน เพื่อป้องกันภัยคุกคาม รักษาไว้เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นและประเทศต่อไป" ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าว