นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงต้นฤดูฝนแล้ว หลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกกระจาย แต่ส่วนใหญ่ฝนไม่ได้ตกในพื้นที่เหนือเขื่อน ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้อย จึงไม่สามารถ เพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนได้ ขณะนี้เขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางมีปริมาณน้ำรวมคิดเป็นร้อยละ 17 – 18 ของความจุอ่างฯ ส่งผลให้ หลายพื้นที่ยังคงมีสถานการณ์ภัยแล้ง โดยปัจจุบัน (27 พ.ค.59) มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 36 จังหวัด 226 อำเภอ 1,167 ตำบล 9,394 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 12.53 ของจำนวนหมู่บ้าน ทั่วประเทศ แยกเป็น จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค 12 จังหวัด ได้แก่ น่าน พิจิตร ลำพูน ตาก สุรินทร์ ชัยนาท สระบุรี ชลบุรี ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ พังงา และชุมพร จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตร 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี และจันทบุรี และจังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 17 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ นครราชสีมา เพชรบุรี ตราด สตูล กระบี่ นครศรีธรรมราช หนองบัวลำภู สุพรรณบุรี สระแก้วขอนแก่น ปราจีนบุรี ลำปาง อุทัยธานี กำแพงเพชร และราชบุรี ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งมีประสิทธิภาพ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้บูรณาการหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน จัดวงรอบในการนำรถบรรทุกน้ำสะอาดไปเติมยังจุดจ่ายน้ำกลางให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค สำหรับการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย ปภ. ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยทหารแจกจ่ายน้ำแก่ผู้ประสบภัยแล้ง โดยสูบน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ เข้าพื้นที่การเกษตร 46,492,629 ลูกบาศก์เมตร สูบน้ำดิบเข้าระบบการผลิตน้ำประปา 6,511,992,000 ลิตร แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคกว่า 260,862,284 ลิตร ผลิตน้ำดื่มแจกจ่ายกว่า 1,104,000 ลิตร อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศในช่วงฤดูฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า มีแนวโน้มเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในระหว่างปลายเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2559 จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด สำรองน้ำฝนและกักเก็บน้ำไว้อุปโภคบริโภค ส่วนเกษตรกรให้วางแผนการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ รวมถึงเลื่อนการทำนาปีออกไปจนกว่าจะมีฝนตกตามฤดูกาลปกติ เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ศูนย์ฯ เขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 76 จังหวัด และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขา 30 สาขาใน 16 จังหวัด หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th