“นาฏยรังสรรค์” มรภ.สงขลา โชว์การแสดงเล่าเรื่องเมืองเก่า

27 May 2016
มรภ.สงขลา ยกผลงานเด็ดโชว์เวที โรงสีแดง หับโห้หิ้น เล่าเรื่องเมืองสงขลา ผ่านลีลานาฏยรังสรรค์ นำเสนอ 7 ชุดการแสดงบนพื้นฐานการวิจัย เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่ชุมชน
“นาฏยรังสรรค์” มรภ.สงขลา โชว์การแสดงเล่าเรื่องเมืองเก่า

น.ส.รวิสรา ศรีชัย อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ของนักศึกษาในโปรแกรมฯซึ่งใช้ชื่อว่า "เล่าเรื่องเมืองสงขลา ผ่านลีลานาฏยรังสรรค์" ณ โรงสีแดง หับโห้หิ้น เมื่อเร็วๆ นี้ว่า จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ศักยภาพของอาจารย์และนักศึกษาโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง ทั้งยังเป็นการนำศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเผยแพร่สู่ชุมชน การแสดงมีทั้งหมด 7 ชุด ได้แก่ 1. สิงขรานารี นำเสนอลีลาท่ารำอันงดงามของหญิงสาวเมืองสงขลา (สิงขรา) ฝั่งหัวเขาแดงที่มีเชื้อสายมลายู เดินทางไปถวายเครื่องราชบรรณาการ ดอกไม้เงินดอกไม้ทองให้แก่กรุงศรีอยุธยา 2. ระบำหนูนุ้ยทำน้ำตาลแว่น เกิดจากการเลียนแบบการประกอบอาชีพทำน้ำตาลแว่น ซึ่งเป็นอาชีพหนึ่งของสังคมชาวใต้ 3. ตารีอีแกเกอริง นำเสนอวิถีชีวิตการประกอบอาชีพของชาวประมงในชุมชนเก้าเส้ง การออกเรือหาปลา การทำปลาตากแห้ง การค้าขายในชุมชน 4. ระบำเทพศรีศรัทธา นำเสนอตำนานโนราสายท่านขุนอุปถัมภ์นรากร ตอน พระยาสายฟ้าฟาดทรงจัดพิธีรับขวัญและให้มีการรำโนรา โดยประทานเครื่องต้นซึ่งเป็นเครื่องทรงของกษัตริย์ให้เป็นเครื่องแต่งกายโนรา และพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่กุมารน้อยราชนัดดาเป็นขุนศรีศรัทธา 5. ฉุยฉายนางนวลทองสำลี นำเสนอความงดงามผ่านลีลาท่ารำในการแต่งองค์ทรงเครื่องของนางนวลทองสำลี ผสมผสานกับจินตนาการของผู้สร้างสรรค์6. วานรินทร์ นำเสนอลักษณะอากัปกิริยาของลิงแสม ความสนุกสนาน การดำรงชีวิตและพฤติกรรม และ 7. ระบำจับกัง โรงสีแดง นำเสนอวิถีชีวิตของกลุ่มคนที่ใช้แรงงานอยู่ในหับโห้หิ้น หรือโรงสีแดง สมัยยังเป็นโรงสีข้าว ซึ่งทุกชุดการแสดงเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่ตั้งอยู่บนกระบวนการวิจัย โดยมีแรงบันดาลใจจากเรื่องราวในสงขลาและปักษ์ใต้บ้านเรา

อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง กล่าวว่า นาฏยรังสรรค์ มรภ.สงขลา แบ่งออกเป็นวิชาเอกนาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์พื้นเมือง และ นาฏศิลป์สากล ดังนั้น การแสดงแต่ละชุดที่ถ่ายทอดสู่สายตาคนดู จึงเป็นการแสดงศักยภาพของนักศึกษาที่เรียนศาสตร์แขนงนี้ โดยการแสดงชุดสิงขลานารี และตารีอีแกเกอลิง เป็นผลงานนักศึกษาภาควิชานาฏยรังสรรค์รุ่น 53 ขณะที่การแสดงชุดหนูนุ้ยทำตาลแว่น เป็นผลงานสร้างสรรค์ของนักศึกษารุ่น 52 ส่วนการแสดงชุดเทพศรีศรัทธา เป็นผลงานนักศึกษาวิชาเอกนาฏศิลป์พื้นเมือง ซึ่งการแสดงชุดนี้ได้รับรางวัลงานวิจัยสร้างสรรค์ดีเด่น ประจำปี 2558 การแสดงชุดฉุยฉายนวลทองสำลี เป็นผลงานสร้างสรรค์ของนักศึกษารุ่น 55ประจำภาคการศึกษา 2558 วิชาเอกนาฏศิลป์ไทย สำหรับการแสดงชุดวานรินทร์ เป็นผลงานสร้างสรรค์ของนักศึกษารุ่น 55 วิชาเอกนาฏศิลป์สากล ที่เพิ่งได้รับรางวัลวิจัยสร้างสรรค์ดีเด่นไปเมื่อเร็วๆ นี้ และ การแสดงชุดจับกัง เป็นผลงานสร้างสรรค์ของนักศึกษารุ่น 55 วิชาเอกนาฏศิลป์พื้นเมือง

ด้าน นายสืบสกุล ศรีสุข ในฐานะคนดู กล่าวว่า การแสดงชุดจับกังโรงสีแดงสวยงามมาก ได้ใจทุกคน ขอชื่นชมด้วยความศรัทธา และภูมิใจกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา นี่คือโจทย์ใหญ่ของการศึกษาไทย ที่หากการศึกษาทุกมหาวิทยาลัย ทุกสาขาอาชีพ สามารถเรียนรู้เพื่อออกไปรังสรรค์สืบสานสืบทอดจิตวิญญาณตัวตนได้ ก็ถือเป็นการคืนความหวังให้แก่ผู้คนและสังคม

HTML::image( HTML::image( HTML::image(