นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ระยะนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้บางพื้นที่มีพายุลมแรง ฝนตกหนัก และน้ำท่วมขัง โดยกรุงเทพมหานคร เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องและมีน้ำท่วมขังใน 8 เขต ได้แก่ เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตดุสิต เขตสาทร เขตดินแดง เขตบางนา เขตทุ่งครุ และเขตบางขุนเทียน ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังเส้นทางและอำนวยการจราจรแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน อีกทั้งยังเกิดพายุลมแรงและฝนตกหนักในหลายจังหวัด ทำให้บ้านเรือนประชาชนสิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหาย ต้นไม้ เสาไฟฟ้าหักโค่นจำนวนมาก ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาและซ่อมแซมสิ่งสาธารณูปโภคและสิ่งสาธารณประโยชน์ให้ใช้งานได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกมาในระยะนี้เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้มีฝนตกในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำ ในเขื่อน ส่งผลให้หลายพื้นที่ยังคงมีสถานการณ์ภัยแล้ง โดยมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) รวม 35 จังหวัด 213 อำเภอ 1,087ตำบล 8,711 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 11.62 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ น่าน พิจิตร ลำพูน ตาก สุรินทร์ ชัยนาท สระบุรี ชลบุรี ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ และพังงา จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี และจันทบุรี จังหวัดที่มีปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ นครราชสีมา เพชรบุรี ตราด สตูล กระบี่ นครศรีธรรมราช หนองบัวลำภู สุพรรณบุรี สระแก้ว ขอนแก่น ปราจีนบุรี ลำปาง อุทัยธานี และกำแพงเพชร ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงแหล่งน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ ให้พัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำ จัดรถบรรทุกน้ำนำน้ำสะอาดไปเติมในภาชนะเก็บกักน้ำกลางประจำหมู่บ้านให้สอดคล้องกับวงรอบการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวมถึงให้เกษตรกรติดตามประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสภาพอากาศและปริมาณน้ำในพื้นที่ เพื่อมิให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit