ด้านนายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า สำหรับรูปแบบอาชีพหม่อนไหมที่แนะนำให้กับเกษตรกรนั้น จะส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรม หรือเลี้ยงไหมเพื่อขายรัง ซึ่งกรมหม่อนไหมได้ประสานงานกับบริษัทจรูญไหมไทย ในการรับซื้อผลผลิตรังไหมของเกษตรกรด้วยการทำพันธะสัญญา (Contract Farming) โดยประกันราคาขั้นต่ำกิโลกรัมละ 180 – 200 บาท ตามเกณฑ์การรับซื้อตามหลักมาตรฐานการรับซื้อรังไหม (พิจารณาตามเปอร์เซนต์เปลือกรัง,รังดี/รังเสีย) ทั้งนี้ รายได้จากการที่เอกชนรับซื้อรังไหมสดจากเกษตรกรที่ร่วมโครงการ ประมาณการผลผลิตและรายได้เกษตรกรที่ร่วมโครงการ พื้นที่ 6 ไร่ จะผลิตหม่อนเฉลี่ย 1,800 – 2,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลผลิตรังไหม 60 กิโลกรัม/กล่อง ผลผลิตรังไหม 720 กิโลกรัม/ปี มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 10,000 บาท/เดือน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการปลูกหม่อนผลสด การปลูกหม่อนเพื่อขายใบ การทอผ้าไหม หรือทอผ้าไหมผสมเส้นใยอื่น ๆ รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหม โดยจะอบรมหลักสูตรการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม การทอผ้า ตลอดจนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แก่เกษตรกร และดำเนินการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกรด้วยระบบการกู้ยืมเงินแบบปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อสนับสนุนการลงทุนเริ่มแรกในการสร้างโรงเลี้ยงไหมตามแบบมาตรฐาน พร้อมวัสดุอุปกรณ์การเลี้ยงไหมครบชุด
"โครงการส่งเสริมปรับเปลี่ยนอาชีพให้เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อสู้วิกฤติภัยแล้ง ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กรมหม่อนไหมได้ไปขับเคลื่อนนำร่องในจังหวัดชัยนาท และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะมีเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมประมาณ 1,000 ราย ในขณะเดียวกันก็จะเป็นฟาร์มต้นแบบด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป" อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit