ด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาจากการใช้สุราและสารเสพติดของคนไทยพบความชุกสูง โดยเฉพาะปัญหาจากการใช้สุรา ซึ่งล่าสุด จากการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ปี 2556 เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโรคทางจิตเวช ปัญหาสุขภาพจิต สารเสพติด และการเข้าถึงบริการของคนไทย พบ คนไทยมีปัญหาจากการใช้สุรา ถึงร้อยละ18 หรือประมาณ 9.3 ล้านคน การลด ละ เลิก หรือไม่ดื่มเลย จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเองในระยะยาวไม่ให้เป็นทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำผิด กรณีผู้ที่ดื่ม อาจวางแผนทำกิจกรรมอื่นทดแทน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เคยดื่มเป็นประจำ หลีกเลี่ยงกลุ่มเพื่อนที่เคยดื่มด้วยกัน หรือปฏิเสธโดยตรงว่ามีปัญหาสุขภาพ รวมทั้งลดปริมาณการดื่มให้น้อยลง และไม่ขับขี่ยานพาหนะขณะมึนเมา เป็นต้น ซึ่งสามารถขอรับคำปรึกษาได้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สำหรับผู้ที่หากต้องเผชิญกับผู้ดื่มสุรา ถ้าเลี่ยงที่จะไม่เข้าใกล้บุคคลนั้นได้ก็ควรเลี่ยง แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ปฏิบัติ "3 ไม่" คือ ไม่นิ่งนอนใจ โทรศัพท์แจ้งตำรวจ หากพบว่า มีอาวุธอยู่กับตัวของผู้เมาสุราหรือบริเวณใกล้เคียง ไม่สร้างบรรยากาศ ข่มขู่ ตำหนิ หรือกดดัน ไม่ยิ้มเยาะหรือหัวเราะ ไม่โต้แย้งหรือท้าทาย หรือตะโกนใส่ เพราะจะยิ่งเพิ่มความโกรธและหงุดหงิดให้เขามากขึ้น ควรยุติการสนทนาลง ที่สำคัญ ไม่ใช้กำลัง ในการยุติความรุนแรง เว้นแต่จะเป็นการกระทำไปเพื่อป้องกันตัวตามเหตุผลที่สมควร
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit