กระทรวงพลังงาน ร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

31 Mar 2016
ก.พลังงาน ร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิค (APEC) พร้อมถอดบทเรียนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่า และศึกษานวัตกรรมรูปแบบใหม่โรงไฟฟ้า ชี้พลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกเชื้อเพลิงสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยรักษาสมดุลด้านต้นทุนค่าไฟฟ้า และยังอยู่ตามแผน PDP 2015 ยันไทยต้องเตรียมพร้อมศึกษาอย่างรอบด้าน คู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจสาธารณชน
กระทรวงพลังงาน ร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้ (25 มีค.) กระทรวงพลังงานได้เข้าร่วมประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการตามความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิค (เอเปค) ด้านพลังงานนิวเคลียร์ หรือ APEC SELF-FUNDED WORKSHOP ON NUCLEAR POWER ภายใต้หัวข้อ "พลังงานนิวเคลียร์ยังคงเป็นทางเลือกในการจัดหาไฟฟ้าคาร์บอนต่ำในอนาคตหรือไม่" ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากหลายองค์กรที่สำคัญ เข้าร่วมประชุมหารือถึงทิศทางการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งถือเป็นทางเลือกการผลิตไฟฟ้าที่มีความสำคัญ พร้อมจะได้ร่วมกันแบ่งปันถึงการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ที่จะมีส่วนสำคัญในการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในอนาคตอีกด้วย

ทั้งนี้ การประชุมสัมมนาฯ ครั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะได้รับทราบถึงประสบการณ์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการฟื้นฟู ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมประชุมจะได้ร่วมกันถอดบทเรียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแนวทางการป้องกันในอนาคต นอกจากนี้จะได้ร่วมกันศึกษาและรับทราบถึงนวัตกรรมรูปแบบใหม่ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หรือ เทคโนโลยี Small Modular Reactor (SMR) ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ในความสนใจของโลกในขณะนี้

ดร.สราวุธ กล่าวเพิ่มว่า นโยบายการส่งเสริมเชื้อเพลิงทางเลือกเพื่อผลิตไฟฟ้าในอนาคต โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ยังคงอยู่ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2015 โดยจะมีการเข้าระบบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายแผนฯ หรือประมาณปี 2579 ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานได้อยู่ระหว่างเตรียมตัวในการศึกษาอย่างรอบด้าน พร้อมกับการสร้างความรับรู้ความเข้าใจกับสาธารณะ

โดยมีกรอบความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ ASEAN Economic Community's Nuclear Education ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญให้เกิดการพัฒนาเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในภูมิภาคนี้

"พลังงานนิวเคลียร์ ยังถือเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกผลิตไฟฟ้าในอนาคตที่สำคัญของไทย และตามแผน PDP 2015 แม้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดช่วงปลายแผน หรืออีก 20 ปีข้างหน้า แต่กระทรวงพลังงานจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด เพราะเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ถือเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่จะช่วยทำให้ค่าไฟฟ้าในอนาคตไม่ผันผวน และยังมีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย" ดร.สราวุธกล่าว

HTML::image(