ในส่วนของวาระเรื่องร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่สำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เดิมที่ใช้ในการจัดประมูลคลื่นครั้งที่แล้วหลายประเด็น กล่าวคือ มีการกำหนดราคาตั้งต้นการประมูลไว้ที่ราคา 75,654 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาเท่ากับที่บริษัทแจส โมบาย จำกัด เสนอในการประมูลครั้งที่ผ่านมา ก่อนที่จะทิ้งคลื่นย่านนี้จนนำมาสู่การต้องจัดประมูลใหม่ในครั้งนี้นั่นเอง สำหรับการเคาะราคาประมูลในแต่ละรอบจะเพิ่มขึ้น 161 ล้านบาท หรือประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าคลื่นที่เคยประเมินไว้ 16,080 ล้านบาท ส่วนหลักประกันการประมูล กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลวางหลักประกันหรือแบงก์การันตีจำนวน 8,040 ล้านบาท หรือกึ่งหนึ่งของมูลค่าคลื่นที่เคยประเมิน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ชนะการประมูลคลื่นที่ได้ชำระเงินแล้วเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ด้วย ขณะที่ข้อกำหนดการชำระเงินประมูล ยังคงกำหนดให้แบ่งจ่ายเป็น 4 งวดเหมือนเช่นหลักเกณฑ์เดิมนอกจากนี้ ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดมาตรการลงโทษในกรณีที่ผู้ชนะการประมูลทิ้งสิทธิการได้รับใบอนุญาต โดยจะถูกริบหลักประกันการประมูลและต้องชำระค่าเสียหายเบื้องต้นเพิ่มเติมเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 8,040 ล้านบาท รวมทั้งขึ้นบัญชีดำ ซึ่งครอบคลุมทั้งผู้ชนะการประมูลและผู้ที่มีความเกี่ยวโยงกันในลักษณะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม การถือหุ้นไขว้ โดยจะไม่สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นและประกอบกิจการโทรคมนาคมได้ต่อไป จนกว่าคณะกรรมการจะพิจารณาเป็นอย่างอื่น ส่วนสิทธิการได้รับใบอนุญาต จะให้สิทธิแก่ผู้เข้าร่วมการประมูลที่เสนอราคาสุดท้ายที่ต่ำกว่าในลำดับถัดไปเป็นผู้ชนะการประมูลแทน และในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียง 1 ราย ก็ให้ดำเนินการประมูลตามกระบวนการต่อไป แต่หากไม่มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล ร่างหลักเกณฑ์ระบุว่า คณะกรรมการสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกการประมูล และจะพิจารณากำหนดการประมูลครั้งต่อไปตามเหมาะสม
ในการร่างหลักเกณฑ์เพื่อจัดประมูลใหม่นี้ มีข้อสังเกตว่า มีการกำหนดมาตรการลงโทษผู้ชนะการประมูลที่ทิ้งสิทธิการได้รับใบอนุญาตไว้ค่อนข้างเข้มงวด เพื่อป้องกันปัญหาซ้ำรอยอย่างเช่นในกรณีบริษัทแจสฯ แต่ก็มีข้อน่าห่วงใยว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงได้ นั่นคือ ในประเด็นการกำหนดราคาตั้งต้นการประมูล ซึ่งเป็นราคาเดียวกันกับที่บริษัทแจสฯ ชนะการประมูล และสูงกว่าราคาสุดท้ายที่ผู้เข้าร่วมประมูลครั้งที่แล้วทุกรายเสนอ โดยระดับราคาที่สูงดังกล่าวอาจกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ไม่มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล จนเป็นเหตุให้เกิดการชะลอการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวออกไป ซึ่งก็จะยิ่งสร้างความเสียหายให้กับทุกฝ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ประเทศต้องการพัฒนาบนฐานเศรษฐกิจดิจิตอล
สำหรับวาระที่บริษัททรูมูฟฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก กสทช. ต่อศาลปกครองกลางนั้น ทางบริษัทฯ อ้างว่า ในช่วงที่บริษัทฯ ดำเนินการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ตามประกาศคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ หรือประกาศมาตรการเยียวยาฯ ปรากฏว่ามีรายจ่ายเกิดขึ้นสูงกว่ารายรับมากกว่า 16,000 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนหลักในการให้บริการเป็นต้นทุนคงที่ แต่ยอดผู้ใช้บริการลดลง โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่ได้ลดลงตามไปด้วย ซึ่งบริษัทเห็นว่า ค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่ารายรับนี้เป็นภาระที่รัฐต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังขอให้ กสทช. คืนเงินค่าธรรมเนียมเลขหมายที่ได้เคยชำระไปบ้างแล้วบางส่วนจำนวนประมาณ 191 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยระบุว่า ประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 กำหนดให้เป็นหน้าที่ต้องชำระของผู้รับใบอนุญาตที่จะได้รับการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมเพื่อนำไปใช้ให้บริการเชิงพาณิชย์ แต่ในกรณีนี้ภายใต้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ เป็นเพียงการนำเลขหมายโทรคมนาคมไปให้บริการแก่ผู้ใช้บริการแทนรัฐเท่านั้น จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด
ข้อพิพาทในกรณีนี้ดูเหมือนความผิดพลาดจะตั้งต้นมาจากการที่ไม่มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ให้ทันก่อนที่สัญญาสัมปทานระหว่างบริษัททรูมฟฯ กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จะสิ้นสุดลง แต่กลับเลือกใช้วิธีการประกาศมาตรการเยียวยาฯ จนกลายเป็นปมปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งจนกระทั่งปัจจุบันบริษัททรูมูฟ และบริษัท ดิจิตอลโฟน ในฐานะผู้ให้บริการอีกรายภายใต้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ก็ยังไม่เคยมีการนำส่งรายได้ให้กับรัฐเลย ขณะเดียวกันก็ดูจะเป็นปัญหาที่มีทีท่าสางกันไม่จบสิ้น ดังนั้นในกรณีของสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท โทเทิ่ล แอคเซส คอมมิวนิเคชั่น หรือดีแทค กับบริษัท กสท โทรคมนาคม ที่กำลังจะสิ้นสุดในปี 2561 หากปล่อยปละและไม่มีการจัดสรรคลื่นด้วยวิธีการประมูลล่วงหน้า ก็น่าที่จะตกร่องปัญหาเดียวกันนี้ด้วยเช่นกัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit