วธ.หนุนสร้างภาพยนตร์ไทย หาผู้ร่วมลงทุนฉายไปทั่วโลก

29 Mar 2016
พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่กระทรวงวัฒนธรรม ว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ได้ประกาศให้ทุนสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ประจำปี 2559 เพื่อส่งเสริมโครงการหรือกิจกรรมด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่มีลักษณะสร้างสรรค์ ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือมีคุณค่าในทางศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบที่คนทุกกลุ่ม รวมทั้งคนพิการสามารถเข้าถึงได้ โดยปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมานั้น มีผู้สนใจขอรับทุนสนับสนุน จำนวน 80 โครงการ โดยคณะกรรมการได้พิจารณาตัดสินผลงานและให้ทุนสนับสนุนโครงการ จำนวน 26 โครงการ ในวงเงิน 5,000,000 บาท ได้แก่ ภาพยนตร์ 12 โครงการ, ภาพยนตร์สั้น 4 โครงการ, กิจกรรม 1 โครงการ, วีดิโอศิลปะ 1 โครงการ, แอนิเมชั่น 4 โครงการ, ภาพยนตร์สารคดี 3 โครงการ และรายการออนไลน์บนเว็บไซต์ยูทูบ 1 โครงการ

​​ พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมยังดำเนินโครงการส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศ โดยจัดประกวดโครงการสร้างภาพยนตร์เพื่อการร่วมลงทุน ประจำปี 2559(Thai Film Pitching at Cannes 2016) เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรในวงการภาพยนตร์ เกิดแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า รวมทั้งเปิดเวทีให้ได้แสดงผลงานสู่ระดับสากล ซึ่งมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด จำนวนทั้งสิ้น 24 โครงการ และคณะกรรมการได้มีมติตัดสินโครงการที่ชนะการประกวด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1. เรื่อง "กว่าจะเป็นผีเสื้อ" (To become a butterfly) โดย นางสาวฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ 2. เรื่อง "มะลิลา" (Malila) โดย นายอนุชา บุญยวรรธนะ และ 3. เรื่อง "พรุ่งนี้ตาย" (Die Tomorrow) โดย นายนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ทั้งนี้ ผู้ชนะการประกวดทั้ง 3 โครงการ กระทรวงวัฒนธรรมจะนำผลงานไปเสนอ เพื่อแสวงหาการร่วมลงทุนในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 11 – 22 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยได้แสดงผลงานให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก

พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้เสนอแนวทางการจัดสวัสดิการช่วยเหลือศิลปิน ดารา ภาพยนตร์ ที่ประสบปัญหาเจ็บป่วยและได้รับความเดือดร้อนจากการเจ็บป่วยหรือประสบปัญหาอื่นๆ นอกเหนือจากสวัสดิการทางการแพทย์พื้นฐานจากรัฐบาล เนื่องจากศิลปินเหล่านี้มีส่วนสำคัญในพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศและสร้างความบันเทิงให้กับประชาชน โดยมีแนวทางช่วยเหลือ ได้แก่ การสำรวจข้อมูลศิลปิน และการจัดสวัสดิการโดยใช้เงินจากกองทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ รวมถึงการสนับสนุนสวัสดิการจากภาคเอกชน เช่น สมาพันธ์ภาพยนตร์ มูลนิธินักแสดงอาวุโส เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ศิลปิน ทั้งนี้จะได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือต่อไป