'นักวิชาการชี้ รายการเด็กและครอบครัวที่มีคุณภาพไม่มีอยู่จริง..!ขณะที่กสทช.ยอมรับควรแยกรายการเด็กออกมาอยู่ในกลุ่มใบอนุญาตบริการสาธารณะ’

29 Mar 2016
สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) จัดงานนำเสนอผลงานวิจัยและงานเสวนา หัวข้อ 'ตามหาสื่อคุณภาพสำหรับเด็กและครอบครัว...มีอยู่จริงหรือ' เพื่อร่วมกันหาทางออก และร่วมสร้างสรรค์พื้นที่รายการเด็กและครอบครัวที่มีคุณภาพ ทั้งในสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ให้เกิดขึ้นเพื่อเด็ก และครอบครัวอย่างแท้จริง
'นักวิชาการชี้ รายการเด็กและครอบครัวที่มีคุณภาพไม่มีอยู่จริง..!ขณะที่กสทช.ยอมรับควรแยกรายการเด็กออกมาอยู่ในกลุ่มใบอนุญาตบริการสาธารณะ’

โดยภายในงาน มีการนำเสนองานวิจัยเพื่อศึกษารูปแบบและเนื้อหารายการเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่พึงประสงค์และการกำหนดนิยามรายการเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำหรับประเทศไทย และ งานวิจัยเรื่องข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการสร้างกลไกในการปกป้องและคุ้มครองเด็กในการใช้สื่อออนไลน์

นอกจากนี้ มีการเสวนาเพื่อร่วมกันไขปัญหา และค้นหาคำตอบว่าสื่อคุณภาพสำหรับเด็กและครอบครัวมีอยู่จริงหรือไม่ โดย อ.ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ได้ฉายภาพปัจจุบันของสถานการณ์ของรายการเด็ก และครอบครัวในบ้านเรา ว่า

"รายการโทรทัศน์เด็กที่ฉายในสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่มีปัจจุบัน ยังไม่สะท้อนว่าเป็นรายการเด็กที่มีคุณภาพจริง เนื่องจาก เป็นรายการที่ผลิตขึ้นโดยขาดความรู้ ความเข้าใจต่อการเรียนรู้ของเด็ก ขาดความรู้ว่าจะต้องสื่อสารกับเด็กอย่างไร ทว่ามีเปลือกของรายการเด็กอย่างเต็มที่ คือ เป็นรายการที่มีเด็กปรากฎอยู่ในรายการ หรือก็มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเด็กในลักษณะการศึกษา ทว่าไม่ค่อยส่งเสริมความรู้ และที่ยิ่งกว่านั้น รายการในช่องเด็กเต็มไปด้วยภาพยนตร์การ์ตูนนำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่มีเนื้อหาแตกต่างไปจากการ์ตูนที่ไร้สาระด้วยฉากการต่อสู้ จินตนาการที่ส่งเสริมความบันเทิงและการหลีกหนีจากสื่อสาระอื่น ๆ หรือไม่ก็เต็มไปด้วยงานโฆษณาขนมกรุบกรอบที่ไม่ได้มีประโยชน์กับเด็กเลย

สิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ คือ การส่งเสริมพัฒนาผู้ผลิตรายการเด็กให้สามารถสร้างสรรค์รายการเด็กที่มีคุณค่า มีประโยชน์ และตรงต้องกับการพัฒนาเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ แม้เราจะคิดเชื่อว่าเด็ก ๆ ไม่ควรดูโทรทัศน์ แต่ก็ต้องมีรายการโทรทัศน์ที่กลายเป็นโลกส่งเสริมจินตนาการด้านวิทยาศาสตร์ การเรียนรู้ การศึกษา และส่งเสริมศิลปะ ความคิดนวัตกรรมให้เด็กไทยมากกว่าเพียงแค่ชั่วครู่ยามแห่งความบันเทิง

ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์จำเป็นต้องได้รับเงินทุนที่เพียงพอ และ ความเข้าใจที่พอเพียงว่า การผลิตรายการเพื่อเด็กนั้นมิใช่เพียงแต่แค่มีเด็กในรายการ หากแต่มันหมายถึงแก่นสาร สาระของมันนั้นเข้าถึงความต้องการพัฒนาการของเด็กไทยที่จะช่วยให้พวกเขาสนุก มีความสุขกับการเรียนรู้อย่างไม่น่าเบื่อ และ นำไปสู่การคิดสร้างสรรค์สู่สิ่งอื่นได้ด้วย นั่นจึงจะเป็นรายการเด็กที่เด็กจะได้รับประโยชน์จริง ๆ"

ขณะที่ ดร.ธนกร ศรีสุขใส อนุกรรมการพิจารณากิจการโทรทัศน์ และคณะทำงานกลั่นกรองแผนแม่บทคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยอมรับว่าแนวทางที่จะสร้างสื่อคุณภาพสำหรับเด็กและครอบครัวให้เป็นจริงได้ในอนาคต ควรแยกรายการประเภทเด็กและครอบครัวออกมาอยู่ในกลุ่มใบอนุญาตประเภทบริการสาธารณะ

"สื่อไทยในรอบ ๓๐ ปีจนถึงปัจจุบันตกอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมและบริบทของระบบตลาดและทุน สถานะของสื่อโดยเนื้อแท้ก็คือธุรกิจ มีเป้าหมายหลักคือการหารายได้และสร้างผลกำไรให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งก็ไม่ปฏิเสธว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อส่วนใหญ่พยายามรักษาสมดุลระหว่างการทำหน้าที่วิชาชีพสื่อ กับผลประโยชน์ทางธุรกิจและความอยู่รอดขององค์กร แต่เมื่อใดก็ตามที่องค์กรสื่อจะต้องเลือกระหว่างจุดยืนแห่งวิชาชีพกับความอยู่รอด สื่อก็มักจะเลือกความอยู่รอดเสมอ

สื่อคุณภาพที่ยืนหยัดและทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริงจึงมีอยู่น้อยมาก และเกิดค่อนข้างยาก เช่นเดียวกับสื่อคุณภาพสำหรับเด็กและครอบครัวก็เช่นเดียวกัน ซึ่งแม้ในการออกใบอนุญาตโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลได้กำหนดแยกประเภทรายการเด็กและครอบครัวออกมาเป็นการเฉพาะถึง ๓ ช่องก็ตาม แต่เมื่อเงื่อนไขการประกอบกิจการไม่แตกต่างจากรายการประเภททั่วไป ช่องรายการเด็กจึงมีโอกาสที่จะเติบโตน้อยมาก โดยส่วนตัวจึงเห็นว่า แนวทางที่จะสร้างสื่อคุณภาพสำหรับเด็กและครอบครัวให้เป็นจริงได้ในอนาคต ควรแยกรายการประเภทเด็กและครอบครัวออกมาอยู่ในกลุ่มใบอนุญาตประเภทบริการสาธารณะ แล้วผลักดันให้หน่วยงานกำกับ อย่าง กสทช. และภาครัฐอื่น ๆ เช่น สำนักงานกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ รวมถึง ไทยพีบีเอส เป็นกลไกหลักในการให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง"

ทางด้านตัวแทนของผู้ผลิตรายการเด็ก คุณณัฐชไม รุ่งปัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทโมนไทย จำกัด ผู้ผลิตรายการเด็ก ทางช่อง ThaiPBS ได้สะท้อนปัญหาของการผลิตรายการอย่างน่าสนใจว่า

"ในภาพรวมของประเทศรายการเด็กไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังและเข้าใจจากภาครัฐ อย่างแท้จริงตั้งแต่ยุคทีวีอนาล็อกจนเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอล มีการแข่งขันกันสูง ซึ่งถือเป็นธุรกิจทีวีไม่ใช่อุตสาหกรรมทีวีอย่างแท้จริง แม้กระทั่งทีวีดิจิตอลช่องเด็ก ผู้ที่ประมูลคลื่นความถี่ไป ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจ ในการทำสถานีโทรทัศน์ช่องเด็กอย่างแท้จริง เมื่อดำเนินการไป แบบธุรกิจบันเทิง จึงต้องเผชิญกับการผิดกฎระเบียบของกสทช. อีกทั้งรายการไม่ได้รับความนิยม และการสนับสนุนจากสินค้าและบริการ จึงประสบกับภาวะขาดทุนจนต้องคืนคลื่นความถี่"

ปิดท้ายด้วย ดร.ธีรารัตน์พันทวีวงศ์ธนะเอนกนายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนได้สรุปผลงานวิจัยเพื่อตอกย้ำถึงรูปแบบและเนื้อหารายการเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่พึงประสงค์ไว้ว่า

"รายการสำหรับเด็กโดยทั่วไปคือรายการที่ผลิตขึ้นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่เป็นไปตามพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัยอย่างเหมาะสมทั้งทางร่างกายและจิตใจโดยใช้ภาษาสุภาพไม่หยาบคายและไม่นำเสนอความรุนแรงผ่านรูปแบบที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินโดยเด็กสามารถรับชม/รับฟังเพียงลำพังได้โดยมีเนื้อหาตามทฤษฎี +6 -3 คือความคิดด้านบวก 6 ด้านและด้านลบ 3 ด้านเป็นไปตามกฎหมายและจริยธรรมที่ไม่มีปัญหาเรื่อง S (sex) L (language) V (violence) R (representation) และมีข้อเสนอให้มีการนิยามรายการเด็กแยกตามช่วงวัยด้วย

ในส่วนของนิยามของรายการครอบครัวคือคือรายการที่ผลิตขึ้นอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยเพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวให้สมาชิกเข้าใจบทบาทตนเองในครอบครัวส่งเสริมทักษะในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวและสอดแทรกเนื้อหาความรู้เพื่อให้สมาชิกเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และได้ใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวอย่างสร้างสรรค์โดยมีการนำเสนอได้หลายรูปแบบเช่นอาจเป็นรายการวาไรตี้สารคดีละครเพื่อครอบครัวแอนิเมชั่นและเกมโชว์เป็นต้นเน้นว่าเป็นรายการที่ทุกคนในครอบครัวดูด้วยกันได้"