สนพ.ร่วมกับ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งอาเซียน ( ERIA) ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรในการจัดทำการพยากรณ์ความต้องการพลังงานในอนาคต

29 Mar 2016
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งอาเซียน หรือ Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการประสานความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อพัฒนาบุคลากรในการจัดทำการพยากรณ์ความต้องการในอนาคต
สนพ.ร่วมกับ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งอาเซียน ( ERIA) ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรในการจัดทำการพยากรณ์ความต้องการพลังงานในอนาคต

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งอาเซียน หรือ Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) ว่า ความร่วมมือดังกล่าว เป็นความร่วมมือที่ดีที่ทาง ERIA ได้ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาบุคลากรของ สนพ. ในการจัดทำการพยากรณ์ความต้องการพลังงานในอนาคต เพื่อให้เกิดความแม่นยำยิ่งขึ้น

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งอาเซียน หรือ Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยและการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรในกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียตะวันออก ซึ่งที่ผ่านมา สนพ. ได้ดำเนินงานและประสานความร่วมมือกับ ERIA มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดทำ Energy Outlook และ Energy Security ของประเทศ และในปี 2559 นี้ ERIA มีความประสงค์ที่จะประสานความร่วมมือด้านพลังงานกับ สนพ. โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรของ สนพ.

ทั้งนี้ ERIA จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาประจำชั่วคราวที่ สนพ. เพื่อให้ความรู้แก่บุคลากร สนพ. เกี่ยวกับการวิเคราะห์และพยากรณ์ โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีสมรรถนะ ในการรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายด้านต่างๆ เช่น ผลกระทบจากนโยบายการพัฒนารถไฟความเร็วสูง การขนส่งระบบราง และการจัดรูปแบบเมืองใหม่ รวมทั้งนโยบายด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น

นอกจากนี้ ERIA ยังให้การสนับสนุนด้านการสำรวจ การวิเคราะห์ผล และการพยากรณ์การใช้พลังงานในภาคครัวเรือน ตลอดจนสนับสนุนด้านการสร้างการยอมรับของประชาชนต่อเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2015) โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้จะมีระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันลงนาม

ดร.ทวารัฐ กล่าวอีกว่า แบบจำลองจะสามารถทำให้ สนพ. ประมาณการความต้องการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งทำให้ได้รับผลลัพธ์เชิงปริมาณของก๊าซเรือนกระจก หรือ CO2 ที่ลดลง อันเนื่องจากการดำเนินนโยบายด้านพลังงานได้อีกด้วย

HTML::image(