นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและ
สหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการตรวจร้านค้าจำหน่ายปัจจัยการผลิต ในเขต
จังหวัดชัยนาท ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักวิจัยและ
พัฒนาการเกษตร (สวพ.) เขตที่ 5
กรมวิชาการเกษตร มีภารกิจหลักในการตรวจใบอนุญาต ตรวจและเก็บตัวอย่างปุ๋ย ยา เมล็ดพันธุ์ ซึ่งดูแลพื้นที่ทั้งหมด 19 จังหวัด ได้มีการลงพื้นที่ตรวจโรงงานและร้านค้าที่มีการจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2) พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ 3) พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยร้านที่จำหน่ายต้องมีใบอนุญาตขายปุ๋ย ใบอนุญาตไว้ในครอบครองซึ่งสัตถุอันตราย มีอายุ 1 ปี และใบอนุญาตขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม มีอายุตามสิ้นปีปฏิทิน ซึ่งโทษของผู้ที่กระทำผิด อาทิ ผู้ขายปุ๋ยเคมีที่พบว่ามีการกระทำผิด มีโทษจำคุก 3 - 10 ปี ปรับ 120,000 - 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น
นายธีรภัทร กล่าวต่อไปว่า ปุ๋ยที่ไม่ได้มาตรฐานจะเป็นการเพิ่มต้นทุนปัจจัยทางการผลิตให้แก่เกษตรกรโดยไม่ได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่เสียไป จึงได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบในทุกพื้นที่ เพื่อไม่ให้มีการผลิตหรือจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งการตรวจจับในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในฤดูกาลเพาะปลูกหน้าต่อไป
สำหรับภาพรวมทั้งประเทศรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา สามารถสรุปผลการตรวจร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 58 - 24 มี.ค. 59 มีจำนวนที่อายัดได้ แบ่งเป็น ปุ๋ย 179,709 กิโลกรัม และ 7,932 ลิตร วัตถุอันตราย 155 กิโลกรัม และ 3,355 ลิตร พันธุ์พืช 425 กิโลกรัม และ 10,190 กรัม
ทั้งนี้ หากพบเห็นโรงงานหรือร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตรที่ไม่ได้มาตรฐาน สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1170