นายกรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทยที่สามารถดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเป็นจำนวนมาก สร้างมูลค่าส่งออกกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วน10% ของจีดีพี ช่วยให้เกิดการจ้างงานในระบบกว่า 850,000 คน แม้ปีที่ผ่านมาสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่อุตสาหกรรมรถยนต์ยังสามารถผลิตเพื่อจำหน่าย ในประเทศและส่งออกรวมกว่า 1.91 ล้านคัน
นอกจากนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ยังเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของประเทศ ตามนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และอุตสาหกรรมยานยนต์จัดเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าจะยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น ฐานการผลิตรถยนต์แห่งภูมิภาคเอเชียในปีพ.ศ. 2563 พร้อมแผนเพิ่มกำลังผลิตรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี จึงต้องเร่งสร้างแรงงานรองรับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่มขึ้นอีกราว 20% ประกอบกับอุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมุ่งสู่เทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน และตอบโจทย์การใช้งานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด จึงเป็นความท้าทายที่ไทยต้องเร่งปรับตัวเตรียม ความพร้อมทักษะฝีมือแรงงานให้เท่าทัน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับ โครงการ Chevron Enjoy Science สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่ได้ลงนามความร่วมมือจัดตั้ง ศูนย์พัฒนาทักษะอาชีพในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ หรือ TVET Hub : Automotive เพื่อร่วมยกระดับและเตรียมพร้อมสู่การเป็นฐานผลิตรถยนต์แห่งเอเชียอย่างยั่งยืน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้มอบหมายให้ สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (Automotive Human Resource Development Academy) หรือ AHRDA เป็นผู้รับผิดชอบประสานงานและบริหารจัดการร่วมกับโครงการฯ
นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า โครงการ Chevron Enjoy Science เป็นโครงการระยะยาว 5 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ผ่านการพัฒนาแรงงานวิชาชีพที่มีทักษะฝีมือและพื้นฐานด้านสะเต็ม (STEM) ให้กับอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงาน การเกษตร และไมโครอิเล็กโทรนิกส์
โดยผลการดำเนินงานปีแรกที่ผ่านมา โครงการฯ ระดมสมองร่วมกับพันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม หรือ TVET (Technical Vocational Education & Training) จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อออกแบบหลักสูตรสะเต็มในโรงเรียนอาชีวศึกษาที่เหมาะสมกับประเทศไทย ผสานความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะของบุคลากรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมจัดตั้ง ศูนย์พัฒนาทักษะอาชีพ (TVET Hub) เพื่อทำหน้าที่พัฒนาแรงงานที่มีทักษะฝีมือตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแห่งแรกจัดตั้งขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่
นางหทัยรัตน์ กล่าวว่า สำหรับโครงการปีนี้ที่ร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะเป็นการพัฒนาและนำหลักสูตรสะเต็มในโรงเรียนอาชีวศึกษาไปประยุกต์ใช้จริง พร้อมจัดตั้งศูนย์พัฒนาทักษะอาชีพของกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และสอดรับนโยบายรัฐบาลที่ผลักดันให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย
ทั้งนี้ ตามแผนงาน 5 ปีของโครงการฯ วางเป้าหมายจัดตั้ง TVET HUB ทั้งหมด 6 แห่งทั่วประเทศ คาดว่าจะช่วยพัฒนาทักษะด้านเทคนิคให้กับแรงงานกว่า 70,000 คน และผลิตแรงงานคุณภาพป้อนสู่ภาคอุตสาหกรรมได้กว่า 138,000 คน
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวเสริมว่า คีนัน ในฐานะผู้บริหารโครงการฯ มีหน้าที่หลักในการร่วมพิจารณาและคัดเลือกหลักสูตรสะเต็มในโรงเรียนอาชีวศึกษาและสื่อการเรียนการสอน ที่เหมาะสมกับประเทศไทย พร้อมวางแผนกำหนดบทบาทการจัดตั้งศูนย์อาชีวศึกษาแต่ละแห่งตามแผนงาน
สำหรับ TVET HUB ที่จัดตั้งขึ้นล่าสุด มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางดำเนินงาน ภายใต้โมเดล "ภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้ขับเคลื่อน" เพื่อพัฒนาหลักสูตรและจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะที่จำเป็นในวิชาชีพให้กับผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์ ตลอดจนดูแลการฝึกงานของนักศึกษากับสถานประกอบการรูปแบบทวิภาคี ซึ่งจะมีสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ หรือ AHRDA จะทำหน้าที่ประสาน ความร่วมมือ 2 ด้านสำคัญ คือ 1. การศึกษาด้านสะเต็มในโรงเรียนอาชีวศึกษา ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้บุคลากร อาทิ วิทยากร ครูพี่เลี้ยง และครูอาชีวะ ให้กับสถาบันอาชีวศึกษาที่ร่วมโครงการ และ 2. การฝึกทักษะที่จำเป็นในวิชาชีพ อาทิ การพัฒนาครูฝึกต่างๆ ให้เข้าไปฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานหรือช่างเทคนิค และการจัดฝึกอบรมระยะสั้นให้กับแรงงานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เป็นโครงการระยะยาว 5 ปี ด้วยงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นพัฒนาการศึกษาใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การพัฒนาศักยภาพครู นักเรียนด้าน STEM ในการศึกษาสายสามัญศึกษา 2. การพัฒนาศักยภาพบุคลากรสายอาชีพและอาชีวศึกษา และ 3. การสร้างการรับรู้และความร่วมมือในการพัฒนาเรียนรู้ด้าน STEM และอาชีวศึกษาให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายสร้างประโยชน์ให้กับครู นักเรียน ผู้บริหารศึกษาเจ้าหน้าที่รัฐและบุคลากรทั่วประเทศกว่า 500,000 คน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit