เกษตรฯ แจ้งเรือประมงพาณิชย์จำนวน 11,237 ลำ ที่มายื่นคำร้องฯ ติดต่อขอรับใบอนุญาตฯ ก่อน 1 เม.ย.นี้ หากออกทำประมงโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษทั้งทางอาญาและมาตรการทางปกครองตาม พ.ร.ก.การประมง 2558

30 Mar 2016
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากพ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558 กำหนดให้การทำประมงในน่านน้ำไทยจะต้องมีปริมาณสัตว์น้ำไม่เกินกว่าค่าผลผลิตสูงสุดที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน (MSY) และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ ดังนั้น เรือประมงพาณิชย์ทุกลำที่จะออกไปทำการประมงในน่านน้ำไทยจะต้องมีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงประกาศให้ชาวประมงมายื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ในช่วงระหว่างวันที่ 1-15 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้มายื่นคำขอฯ จำนวนทั้งสิ้น 10,666 ฉบับ จากจำนวนเรือประมง 11,237 ลำ ภายใต้เครื่องมือประมง 10 ประเภท ได้แก่ อวนลาก อวนล้อมจับ อวนครอบ ช้อน/ยก อวนติดตา อวนรุนเคย คราด ลอบ เบ็ด เครื่องมืออื่นๆ เช่น เรือปั่นไฟ

ดังนั้น ชาวประมงที่ได้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์กับกรมประมงไว้ ขอให้เร่งมาติดต่อขอรับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของกรมประมงจากสำนักงานประมงอำเภอท้องที่ที่ไปยื่นคำขอฯ ก่อนวันที่ 1 เมษายนนี้ ซึ่งเรือประมงที่ได้รับการพิจารณาจะต้องยื่นชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ค่าอากรให้ใช้เครื่องมือทำการประมง และจะได้รับใบอนุญาตฯ ที่มีอายุ 2 ปี เครื่องหมายประจำเรือประมง บัตรสำหรับใช้แทนใบอนุญาตฯ และ สติ๊กเกอร์ประจำเรือประมง จึงสามารถออกทำการประมงได้อย่างถูกต้องตาม พ.ร.ก.การประมง 2558 ซึ่งเริ่มปีการทำประมงใหม่ คือตั้งแต่ 1 เม.ย.59 – 31 มี.ค.61

ขณะเดียวกัน เรือที่จะทำประมงพาณิชย์ทั้งหมดนี้ จะต้องระบุเลือกแหล่งที่จะทำการประมงว่าจะเป็นฝั่งอ่าวไทยหรืออันดามัน เลือกได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับค่า MSY หรือ ปริมาณผลผลิตสูงสุด ของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติได้กำหนดค่า MSY ของสัตว์น้ำที่จะสามารถให้ทำประมงได้ในแต่ละกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสัตว์น้ำหน้าดิน กลุ่มปลาผิวน้ำ และกลุ่มปลากะตัก ไว้แล้ว

"นับจากนี้ไปการทำประมงของไทยจะต้องมีการเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปการประมงใหม่ ไร้ IUU และต้องคำนึงถึงขีดความสามารถในการผลิตของธรรมชาติ โดยใช้หลักวิทยาศาตร์เพื่อหาจุดอ้างอิง ไม่ทำประมงแบบ overfishing เหมือนที่ผ่านมา เพื่อให้การประมงของไทยเป็นการทำประมงแบบยั่งยืน ซึ่งเชื่อมั่นว่าแนวทางการจัดระบบการทำประมง ภายใต้ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 จะส่งผลให้สัตว์น้ำที่เหลืออยู่ในน่านน้ำไทย สามารถฟื้นฟูกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศ และนำความกินดีอยู่ดีมาสู่พี่น้องชาวประมงไทย" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว