WearYouWant (แวร์ยูว้อนท์) ร้านค้าสินค้าแฟชั่นและความงามออนไลน์ชั้นนำของประเทศไทยให้คำแนะนำแก่ลูกค้าชาวไทยเรื่องการจับจ่ายสินค้าออนไลน์อย่างปลอดภัย โดยได้รวบรวมรายละเอียดอย่างง่าย 5 ขั้นตอนที่เป็นประโยชน์ในการสังเกต และข้อควรระวังในการช้อปปิ้งผ่านทางเว็บไซต์ อีคอมเมิร์ซชั้นนำต่างๆ
เนื่องจากนายจูเลียง ชาล์ท หนึ่งในผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แวร์ ยู วอนท์ กรุ๊ป จำกัด ทราบดีว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของบริษัทฯ ในการให้คำแนะนำแก่ลูกค้าชาวไทยเมื่อถึงเวลาที่ต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ กล่าวว่า "เราตระหนักดีว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจที่ค่อนข้างใหม่ และมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังไม่ได้รับความไว้วางใจเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการธุรกิจร้านค้าปลีก ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ WearYouWant ในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจร้านค้าออนไลน์จะต้องมีส่วนรับผิดชอบและมอบประสบการณ์การจับจ่ายสินค้าที่สะดวกสบายและไว้ใจได้แก่ผู้บริโภค เราจึงขอให้คำแนะนำง่ายๆ เพียง 5 ขั้นตอนในการซื้อสินค้าออนไลน์อย่างไรให้ปลอดภัย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากลุ่มลูกค้าชาวไทยจะหันมาจับจ่ายสินค้าด้วยความมั่นใจผ่านช่องทางนี้มากขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยให้กลายเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาคต่อไป"
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เห็นด้วยกับนายชาล์ท และตอกย้ำความสำคัญต่อ 5 ขั้นตอนในการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ที่ WearYouWant ได้รวบรวมขึ้นว่า "เนื่องจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก และเป็นสัญญาณที่ดีต่อผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าออนไลน์ที่ไม่เพียงแต่ได้รับความสนใจ แต่ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับลูกค้าชาวไทยอีกด้วย อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยยังค่อนข้างใหม่ และยังมีจำนวนร้านค้าออนไลน์ไม่มากนักเมื่อเทียบกับตลาดธุรกิจค้าปลีกโดยรวม ดังนั้น ในระหว่างการขยายตัวของภาคธุรกิจ เราจึงต้องการผู้ที่จะให้คำแนะนำแก่ผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในภาพรวมของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และการจับจ่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์ สมาคมฯ เห็นว่าคำแนะนำ 5 ขั้นตอนจาก WearYouWant นั้นมีประโยชน์อย่างมาก และสามารถช่วยเหลือสมาคมฯ ในช่วงเวลานี้ได้เป็นอย่างดี"
คำแนะนำ 5 ขั้นตอนมีดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบข้อมูลสำหรับการติดต่อ เนื่องจากร้านค้าออนไลน์อาจไม่มีร้านค้าจริง ดังนั้นร้านค้าออนไลน์ที่เชื่อถือได้ควรมีข้อมูลสำหรับการติดต่อที่ชัดเจน หากที่อยู่ไม่ชัดเจนยากต่อการค้นหา หรือไม่มีการให้ข้อมูลสำหรับการติดต่อแต่อย่างใด ผู้บริโภคควรระวังในการตัดสินใจที่จะเลือกใช้บริการ นอกจากนี้ ควรมองหารายละเอียดของที่อยู่ภายในประเทศ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ หรือที่อยู่อีเมลและรายละเอียดอื่นๆ ของบริษัทฯ ในกรณีที่เป็นบริษัทข้ามชาติ
ขั้นตอนที่ 2 ตรวจสอบภาษาที่ใช้และการสะกดคำผิด เรามักจะพบปัญหาเรื่องการสะกดคำผิดอยู่บ่อยครั้งใน เว็บไซต์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ไม่ถูกกฎหมาย แต่อย่างไรก็ดีอาจจะไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเสมอไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพบในเว็บไซต์ประเภทท่องเที่ยว แต่สำหรับเว็บไซต์จำหน่ายสินค้าออนไลน์แล้ว การสะกดคำผิดและลักษณะภาษาที่ใช้แปลกๆ อาจต้องพึงระวังเป็นพิเศษ เพราะเว็บไซต์ปลอมจะเกิดจากการสร้างขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยใช้โปรแกรมแปลภาษาช่วย นอกจากนี้ ควรตรวจสอบหน้าเว็บไซต์ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขการซื้อสินค้า และในส่วนของหน้า "เกี่ยวกับเรา" อีกทั้ง รายละเอียดเกี่ยวกับพนักงานและภาพถ่ายยังสามารถช่วยในการบ่งชี้ว่าเป็นเว็บไซต์ที่ถูกต้องตามกฎหมายได้อีกด้วย
ขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบมาตรฐานการชำระเงิน เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซควรมีโลโก้ของวิธีการชำระเงินที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยแสดงอยู่บนหน้าเว็บไซต์ อาทิ PCI และ Norton ทั้งนี้ โลโก้ควรมีความชัดเจน และเป็นที่จดจำได้ หากโลโก้มีเส้นที่ไม่คมชัด หรือมาตรฐานการชำระเงินไม่เป็นที่รู้จัก ผู้บริโภคควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ข้อควรจำ คือ หากเกิดความสงสัย หรือไม่แน่ใจ ไม่ควรให้รายละเอียดของบัตรเครดิต/บัตรเดบิต นอกจากนี้ การค้นหารายละเอียดทางออนไลน์อย่างรวดเร็วช่วยให้พบชื่อบริษัท และวิธีการที่เหล่าอาชญากรไซเบอร์มักนิยมใช้ในการหลอกลวงเป็นประจำอีกด้วย
ขั้นตอนที่ 4 ตรวจสอบชื่อบริษัทผ่านทางกูเกิ้ล โปรแกรมค้นหา หรือเสิร์ชเอนจิน เป็นตัวช่วยที่ดีของนักช้อป เมื่อต้องการค้นหารายละเอียดของบริษัททางออนไลน์ เพียงพิมพ์ชื่อบริษัทเข้าไปในช่องค้นหาของกูเกิ้ล หรือเสิร์ชเอนจินอื่น ก็จะพบรายละเอียดที่ช่วยบ่งชี้ได้ว่าเป็นธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ได้แก่ เว็บไซต์ การรีวิวผลิตภัณฑ์ การลงโฆษณาในส่วนต่างๆ ผ่านลิงค์ของผู้ให้การสนับสนุน และการถูกกล่าวถึงในข่าวประชาสัมพันธ์ และบทความต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ เว็บบอร์ด กระทู้ และสื่อสังคมออนไลน์ เป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้พบรายละเอียดเกี่ยวกับประสบการณ์ด้านลบที่มีต่อบริษัท และ/หรือผู้บริหาร
ขั้นตอนที่ 5 เชื่อในสัญชาตญาณ สัญชาตญาณ ความเป็นเหตุเป็นผล และประสบการณ์ในการค้นหาข้อมูลผ่านทางออนไลน์ ช่วยให้ทราบได้ว่าเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซนี้ไม่ใช่เว็บปลอม และสินค้าที่จำหน่ายบนเว็บไซต์นั้นเป็นของแท้ ข้อควรจำคือ เมื่อมีข้อเสนอ หรือโปรโมชั่นที่ดีเกินกว่าความเป็นจริง ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นการหลอกลวง นักช้อปออนไลน์ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของข้อเสนอ ราคา แบรนด์และคุณภาพสินค้าต้องสัมพันธ์กัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit