เมื่อ "เด็กเมือง" เรียนรู้ธรรมชาติสัตว์และป่าเพื่อสื่อสารให้ "คนเมือง" ร่วมตระหนักและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ ด้วยแรงจุดประกายจาก "เสือโคร่ง" เรื่องเล่าจากมูลนิธิสืบฯ นศ.จากม.ลาดกระบัง จึงอาสาลุยป่าห้วยขาแข้งและอุทยานฯ แม่วงก์ ตามหาคำตอบความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ป่า ธรรมชาติ กับมนุษย์ ร่วมสะท้อนภาพนักอนุรักษ์เพื่อช่วยปลุกจิตสำนึกคนไทยผ่านสื่อสร้างสรรค์ หวังแรงกระเพื่อมถึง"คนเมือง" ได้ตระหนักถึงวิกฤตของธรรมชาติในวันนี้
หลังจากที่นักศึกษา *ทั้ง 11 มหาวิทยาลัย 14 คณะ 17 กลุ่ม ที่เข้าร่วมในเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network For Change : UNC) ภายใต้โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ปี 3 สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สภาคณบดีศิลปศาสตร์แห่งประเทศไทย และภาคประชาสังคม ได้ร่วมเวิร์คช้อปครั้งที่ 1 ในหัวข้อเรียนรู้โจทย์สังคม-เติมทักษะการสร้างสรรค์สื่อ ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว และได้แรงบันดาลใจในการเลือกประเด็นในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ทั้งด้านทรัพยากรและการเรียนรู้ เพื่อให้ข้อมูลจริงจากโจทย์จริง นักศึกษาจึงได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูล อาทิ กลุ่มนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่จับประเด็นทรัพยากร จึงขอลงพื้นที่ศึกษาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี มรดกโลกจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) และอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ชุมชนบ้านธารมะยม จ.นครสวรรค์ ระหว่างวันที่ 18-21 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นพี่เลี้ยงด้านข้อมูล ท่ามกลางไฟป่าที่เพิ่งสงบลงและอุณหภูมิที่พุ่งปรี๊ดเกือบ 40 องศา
โดยนักศึกษาที่ลงเรียนรู้ครั้งนี้มาจากสาขาวิชาจิตรกรรม ประกอบด้วย 1.นายวศิน(เต้จิ๋ว) ติรวัฒนวานิช 2.นายณภัทร (นะ)วัฒนกุลจรัส 3.นายธรรมรัตน์(อู๋) กิตติวัฒโนคุณ 4.นายอนวัช (แม็ก) เอี่ยมขำ โดยมีอาจารย์วุฒิกร คงคา ทำหน้าที่อาจารย์พี่เลี้ยง และสาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย ประกอบด้วย 1.นายสุกฤษฎิ์ (บี้) วัฒนาพงษากุล 2.นายกฤษดา (เบนซ์) นาคะเกตุ 3.นายพรหมวิวัฒน์ (ต้อม) เสาวิจิตร์ 4.นางสาวอัณศยา (บิว) เอี้ยงแจ้ง 5.นางสาวอรปรียา(แอ๋ม) ประเสริฐสุข 6.นายบรรณวิฑิต(อั๋น) วิลาวรรณ 7.นางสาวสุภาณี(เนตร) ลิ้มโรจน์นุกุล และ 8.นางสาวมัลลิกา (นก) แสนเจริญ โดยมีอาจารย์สุวรรณณี สุรเชษฐคมสัน ทำหน้าที่อาจารย์พี่เลี้ยง จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมครั้งนี้ ได้เผยถึงการดีไซน์การลงพื้นที่ โดยคุณภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิฯ ว่า "ทางมูลนิธิฯ ได้ออกแบบการเรียนรู้ให้ตรงกับโจทย์ความสนใจของนักศึกษา โดยสองวันแรกได้เป็นการปูพื้นฐานความรู้ให้เข้าใจเกี่ยวกับผืนป่าตะวันตกและบ้านของสัตว์ป่าแห่งนี้ว่ามีคุณค่าและมีความสำคัญอย่างไร และประเด็นที่เติมคือเรื่องของเสือโคร่งที่มีความสำคัญในผืนป่าตะวันตก และมีความสำคัญระดับโลก ที่พื้นที่ของเรายังมีอยู่ และมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เราอยากให้น้องๆ ได้เรียนรู้เหมือนกันว่าการมีเสือโครงมันเกิดประโยชน์อย่างไร สำหรับการอนุรักษ์ แล้วทำไมเราต้องร่วมกันปกป้องและรักษาเสือโคร่งตรงนี้เอาไว้ มีการบรรยายและให้ความรู้และนำชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้านของเสือโคร่ง และวันถัดไปพาไปดูพื้นที่ที่จะมีโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแม่เรวาของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ และมีพูดคุยกับชาวบ้านที่ชุมชนบ้านธารมะยม ดูตัวอย่างการจัดการน้ำในชุมชน นี่คือตัวอย่างที่ให้น้องๆ ได้เรียนรู้ครับ จากที่เห็นการพาลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการเปิดโลกทัศน์ของน้องๆ ในเรื่องของพื้นที่ป่า โดยการพาลงดูในพื้นที่จริง มาเรียนรู้ ทำให้น้องๆ ได้เห็นว่าจริงๆ แล้วเรื่องของการอนุรักษ์ มีหลายอย่างที่เขาสามารถเรียนรู้ได้ เท่าที่ฟังประเด็นที่น้องๆ สนใจก็มีประเด็นเรื่องเสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในพื้นที่ตรงนี้ ประเด็นบ้านของสัตว์ป่าคือผืนป่าตะวันตก และประเด็นเขื่อนแม่วงษ์ แต่ว่ารูปแบบการตีโจทย์ของน้องๆ จะออกมาอย่างไรก็ต้องรอดูกันต่อไปครับ แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยการที่เขาได้เรียนรู้ การที่ได้มาสัมผัสในชีวิตจริง อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว สำหรับเรื่องงานอนุรักษ์ ส่วนผลงานที่น้องๆ จะทำออกมาถือเป็นกำไรสำหรับพวกเราที่จะนำมาใช้ หรือนำมาร่วมรณรงค์ในงานอนุรักษ์ธรรมชาติต่อ"
หลังลงเรียนรู้ข้อมูลในพื้นที่แล้ว น้องๆ ทั้งสองกลุ่มได้ไอเดียในการทำสื่อครั้งนี้ โดย "นายนภัทร นวกุลจรัส" หรือ นะ ตัวแทนสาขาวิชาจิตรกรรม เผยไอเดียที่ได้แรงบันดาลใจจากคนสู้เพื่อป่า "เลือกสื่อเรื่องผืนป่าตะวันตก สนใจซิมโบลิกของความเป็นป่าว่ามันมีประเด็นอยู่ คือ มันเป็นสัญญลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกันหมด ไม่ว่าจะระบบนิเวศในป่า แต่จริงๆ แล้วมันเป็นภาพสะท้อนหนี่งไปสู่สังคมเมืองที่ไม่ได้เห็นป่า แต่ความจริงแล้ว ความสัมพันธ์ในระบบนิเวศก็มีผลกระทบ พอลงพื้นที่แล้วมาเจอพี่ๆ ทุกคนที่ทำงานในมูลนิธิสืบฯ หรือ พี่ๆ เจ้าหน้าที่ป่า ผมว่าคนเหล่านี้มีความน่าสนใจในอีกแบบหนึ่ง ในประเด็นที่ผมสนใจอยู่แล้วคือเรื่องของการอนุรักษ์ป่า กับข้อมูลที่เขาต้องขึ้นมาต่อสู้กับคนที่พยายามจะสร้างสิ่งปลูกสร้างอะไรที่มันทำลายทรัพยากร ก็เลยสนใจคนที่เขาทำงานด้วยจิตสำนึกของเขา ที่เขามีความอยากจะรับผิดชอบกับงานเขาโดยตัวเขา โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับใคร"
ภาพการนำเสนอ "คือมันอินสไปร์มาจากคน คนในพื้นที่ คนเป็นตัวแปรสำคัญของการสร้าง Massage ให้คนอื่นๆ ที่จะเข้ามาพิทักษ์ป่า ที่ผมบอกเรื่องเกี่ยวกับซิมโบลิก จริงๆ มันก็มีคุณค่าอีกด้านหนึ่ง มันเป็นภาพ หรือเป็นด้านที่บ่งบอกถึงสิ่งที่เราเป็นอยู่ หรือเราเป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งเหมือนกัน เราเป็นมนุษย์ ผมพยายามเก็บบันทึกความจริงให้ได้มากที่สุด ภาพพี่ๆ เหล่านี้เป็นพระเอกคนหนึ่งของงานผม ในแง่ที่เขาเป็นอยู่ เขาก็พูดในสิ่งที่เขาเป็น อยากจะบันทึกออกมาเป็นวิดีโอหรือภาพเคลื่อนไหว และจะสรุปมันให้ได้ Impact กับคนมากกว่ามันสร้างอารมณ์ได้ ประเด็นของผมคือจะสร้าง Massage หนึ่งออกมามากกว่าให้คนดูรู้สึก นี่คือสิ่งที่เขาไม่เคยเห็น เขาก็เป็นคนๆหนึ่งปกติ เขาอาจจะมีอุดมการณ์อะไรอย่างหนึ่ง ในสิ่งที่เขารักหรือมันไม่มีความจริงอยู่ แล้วเขาก็เป็นคนธรรมเหมือนกัน แต่เขาไม่ได้เป็นฮีโร่ของใคร แต่เขาเป็นฮีโร่ของตัวเขาเองที่เขาอยากจะทำ ผมก็แค่อยากจะตีแผ่ให้คนที่ไม่เห็น ได้เห็นมากขึ้น แล้วก็พยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจ และตระหนักอะไรบางอย่าง มันก็ Success ในตัวงานผมแล้ว เพราะผมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีคิดได้ แต่ก็อยากให้คนดูรู้สึกในเรื่องนี้ ตระหนักมากขึ้นในเรื่องนี้ ว่ามันก็เป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรเหมือนกัน"
สำหรับนักศึกษาจากสาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย ได้เลือกทำงานแบ่งออกมาเป็น 3 part ด้วยกัน "เบนซ์-นายกฤษดา นาคะเกตุ" ได้พูดถึงภาพรวมการผลิตครั้งนี้ว่า จะผลิตหนังโฆษณา หรือ TVC (TV Commercial) 3part ด้วยกัน คอนเซ็ปต์นำเสนอสัญญลักษณ์ของผืนป่าคือเสือ ที่เป็นสัตว์อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร เป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศ จึงหยิบเสือมาเป็นตัวแทนเล่าเรื่อง "ตัวแรกเราจะพูดอย่างไรให้คนที่ไม่เคยเข้าป่าเลย เหมือนกับว่าเขาได้มาสัมผัสป่าจริง เหมือนเป็นคำพูดของป่า จากต้นไม้ จากเสือ ไปถึงคนเมือง ตัวที่สองก็จะพูดในเชิงการตั้งคำถามกับคนดูแต่ละกลุ่มว่าสิ่งที่เรามีอยู่ เรายังไม่พอใจกับมันอีกหรือ แล้วเราจะไม่แบ่งปันให้ใครอีกหรือ ส่วนตัวที่สามจะเป็นการพูดที่ใกล้กับคนเมืองมากที่สุด โดยไปถ่ายทำในเมือง เหมือนสองตัวแรกถ้าคุณยังไม่ฟังเราอีก ตัวที่สามมันเหมือนเราจะไปพูดอยู่ข้างคุณแล้วนะ"
นักศึกษาได้สะท้อนการเรียนรู้อย่างเข้าใจป่ามากขึ้น เช่น "บิว-น.ส.อัณศยา เอี้ยงแจ้ง" สะท้อนความรู้สึกว่า "ถ้าเราหาข้อมูลในคอมฯ เราก็ไม่ได้ความรู้สึกเหมือนเราได้มาอยู่ที่นี่จริงๆ ตอนแรกไม่คิดเหมือนกันว่าปัญหานี้ ที่เจอตอนนี้มันจะหนักขนาดนี้ ด้วยความที่โตที่กรุงเทพฯ เราก็จะไม่รู้ปัญหาที่แท้จริง พอได้มาอยู่ตรงนี้ก็รู้สึกว่ามีคนหลายคนที่เขาลำบากกว่าเรา ถ้าเป็นไปได้ก็อยากมีส่วนร่วมในการช่วยเปลี่ยนความคิดของคนเมือง แต่อาจจะได้มีร้อยเปอร์เซนต์แต่ก็จะพยายามค่ะ"
"นก-น.ส.มัลลิกา แสนเจริญ"สะท้อนว่า "ครั้งแรกที่เข้ามา คือไม่เคยเจอป่าที่มันจะอะไรขนาดนี้ มันเป็นภูเขาที่ไม่ใช่ทั้งลูกแต่หลายลูกรวมกัน ก็คิดอยู่ว่าถ้าเรามีบ้านอยู่แบบนี้เราจะอยู่อย่างไร มองเห็นแล้วจะหาอะไรกิน พื้นไหม้ ต้นไม้ก็ไม่มี แล้วสัตว์ไม่มีเครื่องนุ่งห่มหรือมีแอร์แบบเราที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของเขา หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรแบบนี้ค่ะ คือมันจะอยู่กันอย่างไร ก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ทำสื่อให้คนได้รู้สึกสำนึกและคิดว่าเราก็ไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก เราก็แค่เป็นสัตว์คนหนึ่งที่อยู่ร่วมโลกกับอะไรหลายๆ สิ่งที่เราไปเอาเปรียบเขา"
"อั๋น-นายบรรณวิฑิต วิลาวรรณ" ร่วมสะท้อนว่า "ตอนแรกที่มาก็คือปกติเราก็จะไม่รู้เลย เพราะเราเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ไม่เคยรู้เลย สมมติว่า search เจอในอินเทอร์เน็ต เราก็จะแค่เห็นภาพ เห็นโดยทั่วไปว่ามันก็คือภาพๆ นี้ แต่พอเรามาถึงจริงๆ เราได้ความรู้สึกถึงความร้อนที่เกิดขึ้น เปลือกไม้ที่เป็นแบบนี้ หรือการที่ป่าผลัดใบอย่างนี้ เหมือนเป็นระบบนิเวศของเขาที่ผลัดเปลี่ยนไปตามฤดูกาลแล้วก็ส่งผลไปถึงทุกอย่าง ผมชอบคำพูดมุมมองของพี่เอนก (คุณเอนก แก้วนิ่ม พนักงานพิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติแม่วงก์) นะครับ ที่พี่เขาบอกว่าคนก็คือมะเร็งของโลกใบนี้นะครับ เพราะว่าสมมติคนเรามาตัดไม้ทำลายป่ามันก็เหมือนกับเราสร้างมะเร็งไปเรื่อยๆ ให้กับโลก โลกก็สูญเสียออกซิเจนไปเรื่อยๆ ถ้าคนเราเห็นแก่ตัว เราก็ไม่ช่วยโลก โลกเรา ระบบนิเวศของเราก็จะเสียสมดุล มันก็จะไม่เกิดความ balance กัน แล้วก็เกิดโลกร้อน และเกิดภัยแล้งมาถึงตัวเราทุกวันนี้ครับ"
สำหรับ ในปี 2559 นี้นักศึกษาได้เลือกประเด็นทรัพยากร 10 กลุ่ม ประเด็นการเรียนรู้ 7 กลุ่ม และจะมีการเวิร์คช้อปในครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 มีนาคมนี้ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย *รายชื่อมหาวิทยาลัยและคณะที่เข้าร่วมโครงการฯ ในปี 3 มี 1.มหาวิทยาลัยศิลปากร (1.คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 2.คณะมัณฑนศิลป์ 3.คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ) 2.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (1.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 2.คณะศิลปกรรมศาสตร์) 3.มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (1.คณะนิเทศศาสตร์) 4.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (1.คณะวิทยาการสื่อสาร) 5.มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (1.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์-ผังเมือง-นฤมิตศิลป์) 6.มหาวิทยาลัยนเรศวร (1.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) 7.มหาวิทยาลัยบูรพา (1.คณะศิลปกรรมศาสตร์) 8.มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (1.คณะศิลปกรรมศาสตร์) 9.มหาวิทยาลัยรังสิต (1.คณะศิลปะและการออกแบบ) 10.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (1.คณะศิลปกรรมศาสตร์) 11.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (1.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit