นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ แถลงว่า นโยบายการบริหารจัดการแร่ยิปซัม ในปี 2559 ได้มีการจัดสรรโควตาการส่งออกแร่ยิปซัมโดยรวม จำนวน 6.5 ล้านเมตริกตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 4,100 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าการส่งออกลดลงกว่าปีที่แล้วประมาณร้อยละ 15 เนื่องจากประเทศโอมานซึ่งเป็นผู้ผลิตแร่ยิปซัมรายใหญ่และมีปริมาณสำรองแร่ยิปซัมจำนวนมากเข้ามาแข่งขันในตลาดโดยมีราคาต่ำกว่าและได้เปรียบด้านการขนส่งทำให้ประเทศไทยสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาด
ทั้งนี้ แร่ยิปซัม เป็นแร่เศรษฐกิจที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมที่สำคัญ ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมยิปซัมบอร์ด และปูนปลาสเตอร์ โดยแหล่งแร่ยิปซัมของประเทศไทยอยู่ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร นครสวรรค์ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช มีปริมาณสำรองแร่รวมทั้งสิ้นประมาณ 260 ล้านเมตริกตัน
ในอดีตการส่งออกแร่ยิปซัมมีปัญหาเกี่ยวกับการขายตัดราคาเพื่อแย่งตลาดการส่งออกทำให้ราคาแร่ยิปซัมตกต่ำอย่างมาก ในปี 2536 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดดำเนินการ เพื่อสงวนวัตถุดิบซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญไว้เพื่อใช้ในการอุตสาหกรรมที่จะเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศและให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จึงได้กำหนดนโยบายการบริหารจัดการแร่ยิปซัมโดยได้กำหนดปริมาณการส่งออกแร่ยิปซัมควบคู่กับการกำหนดราคาส่งออกแร่ยิปซัมขั้นต่ำเพื่อใช้ในการเรียกเก็บค่าภาคหลวงแร่ ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา
สำหรับกรณีศูนย์ประสานงานการส่งออกแร่ยิปซัม ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารคำสั่งเสนอราคาระหว่างผู้ซื้อแร่และผู้ขายแร่ของภาคเอกชน และนำเสนอคณะกรรมการตลาดของสภาการเหมืองแร่ในกลุ่มตลาดที่มีผู้ประกอบการแร่ยิปซัมเป็นคณะกรรมการในแต่ละกลุ่มตลาดเพื่อตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และข้อตกลงร่วมกันเพื่อป้องกันการขายตัดราคาและการแย่งตลาดกันเอง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้มีการส่งมอบศูนย์ประสานงานการส่งออกแร่ยิปซัมดังกล่าวให้สภาการเหมืองแร่เป็น ผู้ดำเนินงานเพื่อความเหมาะสม เนื่องจากเป็นการดำเนินงานเกี่ยวกับธุรกิจของภาคเอกชน