จุดประกายไซเบอร์ด้วยไอเดียสุดล้ำ มาการองไซเบอร์ที่กินได้...หนึ่งเดียวในประเทศไทย (The World's Only One Eatable Cyber Magaron) หากดูเผินๆ ก็เหมือนขนมทั่วไป มีสีส้มสดใส ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เซนติเมตร ทำจากส่วนผสมไข่ขาว อัลมอนด์บดละเอียดและน้ำตาลป่น สอดไส้ครีม และตกแต่งด้วยน้ำตาล แต่กลับกลายเป็นมาการองที่พาทุกคนโลดแล่นเข้าสู่โลกไซเบอร์ ได้ชมภาพ 3 มิติเคลื่อนไหว เชื่อมต่อรายละเอียดของหลักสูตรวิศวกรรมนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ได้อย่างน่าทึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงวิถีสุดล้ำของยุคอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) ที่อุปกรณ์ทุกอย่างเชื่อมต่อกันได้หมด ไม่เว้นแม้แต่ขนมที่แสนเอร็ดอร่อย
ในงานนี้ได้จัดเสวนา เรื่อง "CIE ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมคอมพิวเตอร์และ Startup" มีผู้ร่วมเสวนา 4 คน ประกอบด้วย รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล., รศ.ดร.ปิติเขต สู้รักษา ประธานหลักสูตร CIE คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล., ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สจล. และคุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ผู้ประกอบการด้านสตาร์ทอัพคอมมิวนิตี้และดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งที่ประสบผลสำเร็จด้วยเทคโนโลยีในประเทศไทย
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี (Assoc.Prof.Dr.Komsan Maleesee) คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ดิจิตอลเทคโนโลยีนับวันยิ่งทวีบทบาทสูงต่อชีวิตประจำวัน การสื่อสาร การทำธุรกิจทุกแขนงในสังคมและเศรษฐกิจทั้งยุคปัจจุบันและอนาคต ขณะที่ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรด้านนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ขั้นสูงอย่างมากที่จะมาพัฒนานวัตกรรมสิ่งใหม่ๆ และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆของไทยให้แข่งขันได้ในระดับประเทศ ภูมิภาคอาเซียนและเวทีการค้าโลก ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เล็งเห็นถึงความจำเป็นนี้ จึงเปิดหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Innovation Engineering : CIE) ขึ้น กำหนดเปิดสอนเดือนสิงหาคม 2559 สร้างและพัฒนาบุคคลากรเป็นผู้เชี่ยวชาญมาตรฐานระดับโลก หลักสูตร CIE นี้ยังได้เตรียมความพร้อมในการขอรับรองมาตรฐานจาก ABET Accreditation ซึ่งเป็นที่ยอมรับของ The Council for Higher Education Accreditation ของสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับทุกหลักสูตรในสหรัฐที่ต้องผ่านการรับรองนี้ CIE เป็นหลักสูตรที่สนับสนุนวิชาชีพที่มีอนาคตก้าวหน้า ส่งเสริมแรงผลักดันความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สู่นวัตกรรม ภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ปลูกฝังการคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสาร การคิดวิเคราะห์และประยุกต์ใช้หลายทักษะร่วมกัน การทำงานเป็นทีม และการฝึกความเป็นผู้นำด้านคอมพิวเตอร์
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางคณะวิศวลาดกระบังได้เดินทางประชุมความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน (ซีเอ็มยู) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกทางด้านนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ ในการพัฒนานักศึกษาให้มีความสามารถทั้งในเรื่องของสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพของงานวิจัย พัฒนาคุณภาพของภาคอุตสาหกรรมที่มีการเชื่อมโยงในการผลิตนวัตกรรมต่อไป ระบบการเรียนการสอนแบบเป็น Active Learning พัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพและทักษะสามารถทำงานได้ในปัจจุบันและโลกอนาคต นอกจากนี้ได้ไปเจรจากับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (ซีเอ็มยู) ให้มาเปิดสาขาไทยที่ลาดกระบัง ซึ่งทางซีเอ็มยูสนใจ แต่มีเงื่อนไขไทยต้องเจรจากับภาครัฐให้การสนับสนุน เพราะต้องใช้งบประมาณเป็นหลักพันล้านบาท ทั้งนี้งบประมาณดังกล่าวต้องใช้เพื่อจัดทำงานวิจัยและปรับสภาพแวดล้อมให้เหมือนกับที่ซีเอ็มยู เป็นเงิน 2-3 พันล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี รวมทั้งส่งนักศึกษาไปเรียนปริญญาโทที่ซีเอ็มยูปีละ 20 คน ปริญญาเอกปีละ 8 คน หากรัฐบาลสนับสนุนจะเป็นก้าวกระโดดที่นำคุณประโยชน์สู่ประเทศไทยมหาศาล เกิดกระบวนการถ่ายทอดโนว์ฮาว เพิ่มศักยภาพและยกระดับการพัฒนาประเทศให้แข่งขันกับมาเลเซีย สิงคโปร์ได้
รศ.ดร.ปิติเขต สู้รักษา (Assoc.Prof.Dr.Pitikhate Sooraksa) ประธานหลักสูตรวิศวกรรมนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Innovation Engineering : CIE) คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยจะก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และบรรลุเป้าหมายเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนได้นั้น เราต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นฐาน จุดเด่นของ หลักสูตร CIE ว่า มีระยะเวลาเรียน 4 ปี จำนวน 140 หน่วยกิต ได้รับการออกแบบหลักสูตรเพื่อผลักดันการสร้างนวัตกรรมและเสริมสร้างความเป็น สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ (Entrepreneurs and technical leadership) เกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ ด้านการเรียนการสอนในแต่ละภาคการศึกษาเน้นการคิดวิเคราะห์โครงงาน (Project-based theme) ซึ่งฝึกฝนให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญจากการปฏิบัติจริงและการออกแบบโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมในด้านต่างๆ โดยในปีแรกผู้เรียนจะได้พัฒนาพื้นฐานในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การพัฒนาทักษะการสื่อสาร และการสัมผัสแนวคิดโปรแกรมและระบบดิจิตอล โดยโครงงานปีแรกผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์ตรงจากการฝึกปฏิบัติและการพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ส่วนปีที่ 2 ผู้เรียนจะได้เรียนรู้แนวคิดระบบคอมพิวเตอร์ขั้นสูงซึ่งเป็นรากฐานของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อาทิ การประยุกต์ออกแบบโซลูชั่นด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น ระบบไซเบอร์ทางกายภาพและโครงสร้างคอมพิวเตอร์ สำหรับปีที่ 3 จะเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น เทคโนโลยีคลาวด์, Mobile computing, Cybersecurity, Big data analytics และ Internet of Things ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิตอลในอนาคต และปีที่ 4 ผู้เรียนจะได้ทำโครงงานออกแบบนวัตกรรมทางวิศวกรรมที่สำคัญ โดยประยุกต์ทักษะและองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ยั่งยืน
ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร (Dr.Akkarit Sangpetch) อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สจล. กล่าวว่า นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Innovation Engineering : CIE) จะมีโอกาสได้ฝึกงานและทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกเช่น มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน ฯลฯ และมีโอกาสฝึกงานกับองค์กรภาครัฐและเอกชนชั้นนำด้วยความสนับสนุนจากองค์กรพันธมิตรนานาชาติชั้นนำของโลก ได้แก่ IBM, Microsoft, Oracle, VMware, MFEC, True Corporation ฯลฯ ผู้ที่สำเร็จการศึกษา CIE จะเป็นที่ต้องการอย่างสูงของตลาดวิชาชีพทั้งในประเทศและนานาประเทศ สามารถทำงานในอาชีพที่มีความก้าวหน้าและรายได้สูง เช่น Innovation Engineer, Startup Entrepreneurs, Cloud Engineer, Innovation Software Engineer, IT Innovation & Developer, Enterprise Data Engineer, Innovation Application Developer, Product Designer, Embedded System Engineer, Security Analyst, Software Architect, Solution Engineer จุดประสงค์หลักของหลักสูตร CIE คือ ต้องการบุคลากรในอนาคตที่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนทางด้านนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ และสามารถนำประเทศไปสู่ดิจิตอลเพลนโซลูชั่นได้อย่างสมบูรณ์ หลักสูตร CIE เปิดรับสมัครวันนี้ - 13 มีนาคม 2559 จำนวน 50 คน ประกาศผลสอบคัดเลือก 22 มีนาคม 59 เปิดการเรียน สิงหาคม 59 สอบถามเพิ่มเติม Email. [email protected]
คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ (Oranuch Lerdsuwankij) ผู้ประกอบการด้านสตาร์ทอัพคอมมิวนิตี้และดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งที่ประสบผลสำเร็จ กล่าวว่า นวัตกรรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในการดำเนินชีวิตและธุรกิจมาหลายปีแล้ว ส่วนการนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมาต่อยอดเป็นธุรกิจหรือที่เรียกกันว่า "Tech Startup" ผู้ประกอบการธุรกิจที่นำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาบางสิ่งบางอย่างในสังคม และทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น ด้วยรูปแบบธุรกิจที่สามารถทำซ้ำได้ (Repeatable) และขยายเติบโตได้อย่างรวดเร็ว (Scalable) เราได้เห็นหลายธุรกิจที่สามารถพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ตลาดและประสบความสำเร็จได้ อาทิเช่น Airbnb, Grabtaxi บ้านเราก็มีอย่าง อาทิเช่น Ookbee, Wongnai, Stockradars, Jitta เป็นต้น หัวใจสำคัญของความสำเร็จ นอกจากเรื่อง IP หรือการเข้าไปแก้ปัญหาและตอบโจทย์ของการทำสตาร์ทอัพได้จริง ในหลายๆโครงการไม่ได้เกิดเป็นเชิงพาณิชย์ เพราะว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เราไม่รู้ว่าจะนำสิ่งเหล่านั้นไปขายอย่างไร และส่วนที่สำคัญจะตอบโจทย์ตลาดได้อย่างไร ซึ่งเราจะต้องเข้าไปเรียนรู้สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ และดึงไปสู่จุดที่จะทำให้สตาร์ทอัพประสบผลสำเร็จ
ส่วนแนวโน้มของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในอนาคต ปัจจุบันเรากำลังดำเนินชีวิตอยู่ในยุคของ Big Data ที่มีข้อมูลข่าวสารมากมายมหาศาลแบบไม่มีโครงสร้าง อันเกิดมาจาก Social Media, อุปกรณ์ IoT (Internet of Things) และอื่นๆ อีกมากมาย หนึ่งในหัวใจสำคัญคือจะนำดาต้าประเภทนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงได้อย่างไร ในภาคธุรกิจเราเริ่มเห็นหลายองค์กรเริ่มเห็นความสำคัญของการค้นหาพฤติกรรมผู้บริโภค (Consumer Insights) จากการนำเอาโมเดลต่างๆ มาวิเคราะห์เพื่อทำนายอนาคตที่มีโอกาสเกิดขึ้นในเชิงธุรกิจ มีการใช้ความสามารถของเทคโนโลยีอย่าง Machine Learning หรือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถเรียนรู้ได้เองโดยไม่มีการกำหนดการทำงานของโปรแกรมอย่างแน่นอน ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) เพื่อเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่ และนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์และนำไปใช้เพื่อศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit