กรีนพีซทำการรณรงค์ระดับโลกโดยพุ่งเป้าไปที่แบรนด์และลูกค้าหลักของไทยยูเนี่ยนเพื่อผลักดันให้มีการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานปลาทูน่าและอาหารทะเล (1) กรีนพีซเรียกร้องอย่างชัดเจนต่อไทยยูเนี่ยนให้นำเสนอกรอบเวลาที่มีขั้นตอนว่ามีแผนการที่จะเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานให้พ้นไปจากการประมงแบบทำลายล้าง อย่างเช่น การใช้เครื่องมือล่อปลา (FADs) ในอวนปลาทูน่า รวมถึงการเน้นความรับผิดชอบต่อสังคม และรับประกันถึงการตรวจสอบย้อนกลับได้ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก แต่จนถึงบัดนี้ ไทยยูเนี่ยนยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติให้เกิดผลแต่อย่างใด
"รัฐบาล ผู้บริโภค และผู้ค้ารายย่อย มีความตระหนักมากขึ้นและต้องการให้มีการจัดการที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล" อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว "นักลงทุนและผู้ถือหุ้นควรรับรู้ถึงแนวทางปฏิบัติที่ไทยยูเนี่ยนมีส่วนเกี่ยวข้องและประเมินว่าการเข้าไปร่วมนั้นคุ้มกับความเสี่ยงด้านชื่อเสียงที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่"
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยน ได้ประกาศเปิดตัวโครงการเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญระดับนานาชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้านความอย่างยั่งยืน Sea Change ของบริษัท (2)
"โครงการ Sea Change ดังกล่าว ไม่ได้นำเสนอการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่มุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานบนเรือประมง ทั้งแรงงานที่อยู่บนเรือประมงในและนอกน่านน้ำไทยและบนเรือที่ติดธงสัญชาติอื่นๆ นอกจากนี้ Sea Change ยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะมุ่งสู่วิธีการทำประมงที่มีความยั่งยืนกว่า อย่างเช่น อวนปลาทูน่าที่ไม่ใช้ร่วมกับเครื่องมือล่อปลา" อัญชลีกล่าวเพิ่มเติม
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกร้องให้ไทยยูเนี่ยนจัดหาวัตถุดิบจากการทำประมงปลาทูน่าที่ยั่งยืนมากขึ้น และมีมาตรการที่เข้มงวดและครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทานผ่านการรับรองจากฝ่ายที่สาม เพื่อรับประกันว่าวัตถุดิบอาหารทะเลของบริษัทปลอดจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการบังคับใช้แรงงาน และมีความรับผิดชอบต่อสังคมหมายเหตุ
(1) http://tuna.greenpeace.org/en
(2) http://www.thaiunion-sustainability.com/
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit