อีจีเอจับมือรัฐบาลเกาหลีเซ็นเอ็มโอยูทำบิ๊กเดต้า หวังเร่งสร้างสภาพแวดล้อมรองรับการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ผลิตนักวิทย์ฯข้อมูลและโครงการเร่งด่วนรองรับ เชื่อส่งผลก้าวกระโดดในวงการไอที

05 Apr 2016
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมกับคณะของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในการเยือนประเทศเกาหลีใต้ในช่วงที่ผ่านมา EGA ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับ ศูนย์คอมพิวเตอร์และบริการด้านข้อมูลข่าวสารแห่งชาติ ของเกาหลีใต้ หรือ National Computing and Information Service (NCIS) โดยได้ทำลงนามทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในหัวข้อ Big Data for e-Government หรือ การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับภาครัฐ โดยสัญญาจะผูกพันเป็นระยะเวลา 3 ปี

สถานการณ์ปัจจุบันในด้านการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ หรือ Big Data for e-Government ของไทยนั้นยังอยู่ในขั้นทดลอง ตั้งแต่การจัดโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้เอื้อกับการคำนวณที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากพร้อมกัน และต้องแสดงผลแบบ real timeหรือเสมือนจริงได้ในทันที และยังต้องเชื่อมต่อข้อมูลทุกรูปแบบและหลากหลายหน่วยงานได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งโครงการแรกจะเป็นการใช้Big Data ในการรายงานการจราจรรวมถึงบทวิเคราะห์ในช่วงสงกรานต์นี้

ขณะเดียวกันปัญหาใหญ่ของการทำระบบ Big Data ในประเทศไทยอยู่ที่การบริหารจัดการ ความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างองค์กรที่เป็นศูนย์กลาง และการเร่งสร้าง Data Scientist หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลขึ้นมารองรับโดยเร่งด่วน ซึ่งในเรื่องนี้ภาครัฐของเกาหลีใต้จะมีประสบการณ์ในการจัดการ Big Data มากกว่ารัฐบาลไทยอย่างมาก ดังนั้นการทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกันครั้งนี้หน่วยงานรัฐบาลไทยจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่

สำหรับรายละเอียดข้อตกลงนั้น ทั้ง EGA และ NCIS จะร่วมกันจัดทำโครงการเพื่อศึกษาและพัฒนา Big Data สำหรับหน่วยงานภาครัฐของทั้ง 2 ประเทศขึ้น โดยรายงานจะมีการศึกษาเป็นลำดับชั้นแบบต่อเนื่อง นอกจากเป็นรายงานสถานการณ์ การแบ่งปันประสบการณ์ และการร่วมทำโครงการ Big Data ระหว่างกันขึ้นมา นอกจากนั้นทั้งสองหน่วยงานจะต้องจัดหาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ Big Data เพื่อให้คำแนะนำในช่วงระหว่างการดำเนินโครงการ เท่ากับทั้งสองประเทศจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากหน่วยงานของตนเองและจากหน่วยงานสากลที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งจะทำให้โครงการนี้จะนำชุดประสบการณ์จากทั่วโลกมากลั่นกรองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

หลังจากที่ได้มีการศึกษาแนวทางการพัฒนา Big Data ของทั้งสองประเทศร่วมกันแล้ว จะต้องร่วมจัดกิจกรรมทางวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ในการพัฒนาการจัดการ Big Data สำหรับภาครัฐร่วมกันอีกด้วย โดยกิจกรรมที่จัดจะต้องนำไปสู่โครงการพัฒนา Big Data ให้เติบโตและสำเร็จเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่มีแนวทางการศึกษาและกิจกรรมเผยแพร่เท่านั้น

"ความร่วมมือของสองหน่วยงานจากไทยและเกาหลีใต้ครั้งนี้ จะทำให้ Big Data ของภาครัฐไทยก้าวกระโดดอย่างเป็นรูปธรรมแน่ เพราะเกาหลีใต้มีหลายโครงการที่เริ่มดำเนินการแล้ว และ EGA ก็จะนำโครงการเหล่านั้นมาทดลองใช้กับประเทศไทย โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ซึ่งจะทำให้หน่วยงานรัฐของไทยจะเข้ามาจัดการกับเทคโนโลยีใหม่เช่นนี้ได้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด" ดร.ศักดิ์ กล่าวสรุป