นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะ
โฆษกกระทรวงการคลัง แถลง
ฐานะการคลังภาคสาธารณะตามระบบ สศค. (
รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ
รัฐวิสาหกิจ) ว่าในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม – ธันวาคม 2558) ขาดดุลการคลังทั้งสิ้น 238,535 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.7 ของ GDP) โดยขาดดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 9.1 ทั้งนี้ ภาคสาธารณะมีรายได้รวม 1,588,592 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 158,487 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.1 เป็นผลจากรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีรายได้ลดลง สำหรับด้านรายจ่ายภาคสาธารณะมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 1,827,127 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 138,679 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.1 อันเนื่องมาจากรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ (บมจ. ปตท. และ บมจ. การบินไทย) มีการเบิกจ่ายลดลง ทั้งนี้ ดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึง ผลการดำเนินงานและทิศทางของ
นโยบายการคลังอย่างแท้จริง (ไม่รวมรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ย รวมทั้งการชำระคืนต้นเงินกู้) ขาดดุล 171,884 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของ GDP)นายกฤษฎาฯ สรุปว่า "ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล โดยมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในส่วนของรายจ่ายรัฐบาล และรายจ่ายเงินกู้โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน โดยการเบิกจ่ายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว"
1. ฐานะการคลังภาครัฐบาล ภาครัฐบาลมีรายได้รวม 749,901 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 44,944 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.4 ประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 578,548 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ของปีที่แล้ว 47,697 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.0 โดยสาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การนำส่งสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียน และการนำส่งรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz (4G) สำหรับกองทุนนอกงบประมาณ มีรายได้ทั้งสิ้น 171,353 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2,753 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.6 โดยมีสาเหตุจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายได้จากเงินนำส่งเข้ากองทุนจากการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง
ในด้านรายจ่าย ภาครัฐบาลมีการเบิกจ่ายรวม 974,188 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 70,445 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.8 ประกอบด้วย
- รายจ่ายรัฐบาล 845,964 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 40,398 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.0
- รายจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณ จำนวน 29,322 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) รายจ่ายตามแผน ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง จำนวน 634 ล้านบาท (2) รายจ่ายเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) จำนวน 626 ล้านบาท เป็นการเบิกจ่ายสำหรับโครงการจัดหาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้า ด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์ ระยะที่ 5 จำนวน 226 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัยต่อการเดินรถ 4 สายทาง จำนวน 148 ล้านบาท (3) รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 235 ล้านบาท (4) รายจ่ายเงินกู้โครงการเพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน จำนวน 27,794 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเบิกจ่ายของกรมทางหลวงชนบท จำนวน 10,999 ล้านบาท กรมทางหลวง จำนวน 10,742 ล้านบาท และ (5) รายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ จำนวน 33 ล้านบาท
- รายจ่ายกองทุนนอกงบประมาณ จำนวน 98,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 3,635 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.8 โดยมีสาเหตุมาจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น
ดุลการคลังของภาครัฐบาลในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2559 ขาดดุล 224,287 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.6 ของ GDP) ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 25,501 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.8
2. ฐานะการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อปท. มีรายได้ จำนวน 169,410 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 9,564 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.3 โดยสาเหตุหลักเกิดจากการได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลลดลง 10,589 ล้านบาท ในขณะที่รายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บให้และแบ่งให้เพิ่มขึ้น 770 ล้านบาท ด้านรายจ่าย คาดว่า อปท. มีรายจ่าย จำนวน 134,127 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 26,757 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.6 จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลังของ อปท. เกินดุล 35,283 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.3 ของ GDP) เกินดุลเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 17,193 ล้านบาท
3. ฐานะการคลังรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (รัฐวิสาหกิจฯ) มีรายได้ 895,216 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 189,541 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.5 โดยมีสาเหตุหลักจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีรายได้ลดลงจำนวน 165,742 17,544 และ 4,453 ล้านบาท ตามลำดับ และมีรายจ่ายรวม 944,747 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 178,041 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.9 โดยมีสาเหตุหลักจากการที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีรายจ่ายประจำลดลง 167,428 และ 14,775 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งจากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจฯ ขาดดุล 49,531 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP)