นายวีระ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ วธ. จัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ร้อยละ 47.60 ให้วัดเป็นศูนย์กลางจัดกิจกรรมต่างๆ ร้อยละ 45 ให้ความรู้เกี่ยวกับการรดน้ำขอพร ร้อยละ 44.80 จัดประกวดรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทย ผ้าขาวม้า ผ้าประจำถิ่น ร้อยละ 38.30 จัดนิทรรศการ/ทำสื่อให้ความรู้เรื่องประเพณีสงกรานต์ ร้อยละ 37.80 และจัดสงกรานต์อาเซียนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ร้อยละ 34.10 ตามลำดับ ที่สำคัญ ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาภัยแล้งหรือขาดน้ำ ควรเล่นน้ำสงกรานต์ที่เหมาะสม โดยการจัดเฉพาะกิจกรรมแบบไทย เช่น สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ใช้การพรมน้ำแทนการสาดน้ำใส่กัน ใช้ปืนฉีดน้ำขนาดเล็กหรือขันน้ำขนาดเล็ก กำหนดวันเล่นน้ำเพียง 1 วัน และกำหนดช่วงเวลาเล่นน้ำให้ชัดเจน รวมถึงจัดสถานที่หรือบริเวณไว้สำหรับเล่นน้ำโดยเฉพาะ ซึ่ง วธ. ก็ได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เช่น งานสงกรานต์ในวัดรู้รักษ์วัฒนธรรมสืบสานประเพณีวิถีไทย อาทิ วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร และวัดต่างๆทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการอัญเชิญพระบรมธาตุที่พบในพระกรัณฑ์ (ผอบ) ก้านพระรัศมี พระพุทธสิหิงค์ และเทพนพเคราะห์ 9 องค์ ให้ประชาชนได้สรงน้ำและกราบไหว้บูชา ระหว่างวันที่ 12 – 14 เม.ย. เวลา 09.00-16.00 น. ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และสงกรานต์อาเซียน ระหว่างวันที่ 15 – 16 เม.ย. ที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อเป็นการสืบสานกิจกรรมสงกรานต์แบบไทย ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit