ด้วยศักยภาพของทะเลอาเซียนมรดกการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความสวยงามและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้นการมีความรู้ด้านพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อทะเลให้น้อยที่สุด หรือที่เรียกว่า "การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" จึงเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ต้องร่วมมือกันให้เกิดการปฏิบัติจริงเพื่อนำไปสู่การบูรณาการที่วัดผลได้ต่อเนื่อง นายณัฐวัชร์ คำเสน นักวิชาการเผยแพร่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายซาช่า อูลเมอร์ (Mr.Sacha Ulmer) เจ้าของโรงเรียนสอนดำน้ำ Dolphin Divers ผู้ริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมดำน้ำ คนไทยทำได้ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒจึงขอเป็นตัวแทนเพื่อนำเสนอการทำงานร่วมกันในครั้งนี้
กิจกรรมการจัดอบรมความรู้การอนุรักษ์ทะเลและสำรวจแนวปะการังแบ่งเป็น 2 วัน ในวันแรกเป็นกิจกรรมภาคบรรยาย เช่น ความรู้เกี่ยวกับเรื่องปะการัง วิธีการดูการฟอกขาวของปะการัง การสังเกตชนิดของปลา ตัวอย่างผลกระทบจากขยะที่ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล การทดลองสำรวจปะการังจากภาพ และจำลองเหตุการณ์ของไกด์ดำน้ำที่ต้องแนะนำสิ่งที่ควรทำและกล่าวเตือนนักท่องเที่ยวที่ทำผิด พร้อมวิธีการพูดขอความร่วมมือกับนักท่องเที่ยว
นายณัฐวัชร์ คำเสน นักวิชาการเผยแพร่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กล่าวว่า "สำหรับการอบรมครั้งนี้คือเราต้องการเครือข่ายนักดำน้ำและผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเล เพื่อช่วยในการดูแลทรัพยากรทางทะเลของประเทศไทยเรา เนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่เราไม่สามารถดูแลทะเลได้ทั่วถึง กลุ่มผู้ประกอบการมีโอกาสได้ลงไปพบเห็นทรัพยากรทางทะเลทุกวันมากกว่าเจ้าหน้าที่ด้วยซ้ำไปในบางที เพราะฉะนั้นความถี่ที่จะเห็นทรัพยากรมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้เราได้ข้อมูลที่ละเอียดขึ้นซึ่งมีประโยชน์ในการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมทรัพฯมากยิ่งขึ้น ข้อมูลที่ได้จากนักดำน้ำไม่ว่าจะเป็นการสำรวจแนวปะการังหรือการพบเห็นการทำร้ายแนวปะการังหรือการพบปะการังฟอกขาว ข้อมูลเหล่านี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็จะนำมาบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลเพื่อนำไปสู่การทำเป็นพื้นที่คุ้มครองหรือออกมาตรการในการตรวจหรือเข้มค้นในการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อไม่ให้มันถูกทำลายไปมากกว่านี้และจะดูแลให้ได้อย่างยั่งยืนเพื่อให้ลูกหลานเราได้เห็นต่อไปครับ"
นายซาช่า อูลเมอร์ ผู้ริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมดำน้ำ คนไทยทำได้ เครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำ เสริมว่า "มันสำคัญมากที่นักศึกษาฝึกอาชีพไกด์ดำน้ำจะต้องได้รับการอบรมความรู้จากกรมทรัพฯ เพราะพวกเขาคืออนาคตของประเทศ ดังนั้นพวกเขาต้องมีความรู้เกี่ยวกับปะการังในประเทศไทย ต้องปกป้องทะเล และเป็นเพราะพวกเขานี่แหละที่เราจะสามารถช่วยกันทำให้ทะเลและปะการังดีขึ้น เพราะว่าเขาสามารถนำความรู้จากการอบรมครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ ไม่ใช่แค่ไปดำน้ำสนุกๆ เพราะเมื่อไปดำน้ำคุณต้องระวังปะการังและทุกอย่างใต้ทะเล คุณต้องให้ความเคารพกับทะเลและปะการัง มันเป็นความรับผิดชอบของไกด์ดำน้ำที่จะต้องดูแลทะเล เพราะสุดท้ายแล้วอาชีพของเราคือการลงไปในทะเล ออฟฟิศของเราคือทะเล ถ้าเราพานักท่องเที่ยวไปดำน้ำและเห็นทะเลที่แย่มาก เราก็ไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้นมันเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะต้องดูแลทะเลให้ดูดี และเป็นความรับผิดชอบของพวกเราที่จะต้องสอนผู้คนและนักท่องเที่ยวให้เคารพทะเล"กิจกรรมวันที่สอง คือ การลงดำน้ำสำรวจแนวปะการังและบันทึกข้อมูล การลงพื้นที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อไปสำรวจปะการัง ที่ 2 จุดดำน้ำ คือ หินสามสาวและหินราบเหนือ เมื่อสำรวจเสร็จจึงนำข้อมูลที่ได้กรอกลงในเว็บไซด์ www.greenfins-thailand.org เพื่อเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่กรมทรัพฯ ใช้ปฏิบัติงานต่อไป ข่าวดีสำหรับการสำรวจครั้งนี้คือ ปะการังบริเวณจุดดำน้ำทั้ง 2 แห่ง ยังคงความสวยงามอยู่ ไม่เกิดการฟอกขาวมากเท่าไหร่ หรือแทบจะไม่เห็นปะการังฟอกขาวเลย
นายสุรศักดิ์ ชาติรักวงศ์ นิสิตสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตัวแทนผู้เข้ารับการอบรม กล่าวว่า "ความรู้จากที่ได้ฟังอบรม Reef Watch เป็นเหมือนเครื่องมือที่ใช้งานได้จริงๆ ต่างจากทฤษฏีในห้องเรียนบางอย่าง ซึ่งความรู้ที่ได้ครั้งนี้ทำให้เราเป็นเหมือนกับ หนึ่งแรงน้อยๆที่เป็นกำลังสำคัญในการที่จะเป็นผู้สอดส่องและดูแลทรัพยากรปะการังในอนาคตต่อๆไป ความยากที่แตกต่างกันนั้นแทบจะไม่มีเลย เพราะตอนที่ดำน้ำลงไปสำรวจก็มีความรู้สึกว่าได้ลงไปดำน้ำท่องเที่ยวเหมือนกัน บางทีการที่ลงไปดำน้ำสำรวจปะการังยังได้เห็นอะไรได้มากกว่าการดำน้ำท่องเที่ยวครั้งก่อนๆซะอีก เพราะก่อนหน้านั้นที่ลงและยังไม่รู้จักการทำ Reef watch ก็แค่ดำน้ำผ่านๆ ไม่ได้เข้าไปใกล้ปะการังมาก พอมาทำ Reef watch เราต้องคอยสังเกต และพิจารณาแนวปะการังไปรอบๆ ได้รู้จักปะการังมากขึ้นกว่าเดิมอีก"
อาชีพไกด์ดำน้ำ หรือ Dive Leader เกี่ยวเนื่องกับมูลค่าการท่องเที่ยวและการรักษาทรัพยากรในท้องทะเล หากเราต้องการมีมรดกธรรมชาติทางทะเลที่สามารถสร้างรายได้ในระยะยาว การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงเป็นทางออกที่ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ดังที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า การพัฒนาศักยภาพบัณฑิตให้สามารถเข้าสู่งานบริการธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลด้วยระบบการศึกษา พร้อมปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ จะเป็นการวางรากฐานเพื่อทำให้อาเซียนสามารถเป็นศูนย์การด้านการท่องเที่ยวทางทะเลได้อย่างมีทิศทางและยั่งยืน
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมการอบรมในโครงการอุตสาหกรรมดำน้ำ คนไทยทำได้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร 086-101-4783 หรือ www.facebook.com/seaeventsBangkok และสามารถดาวน์โหลดเอกสารการดำน้ำอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงการสำรวจแนวปะการังด้วยตัวเอง (Reef Watch) ได้ที่ www.greenfins-thailand.org
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit