"ตลอดระยะเวลา 30 วัน ของการฝึกอบรม ผู้เข้ารับการฝึกฯ ได้เรียนรู้ทั้งหลักทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งได้รับทราบและเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องทั้งในเรื่องของอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ จรรยาบรรณ ของผู้สังเกตการณ์ และความรับผิดชอบของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของกรอบโครงสร้างด้านกฎหมายและนโยบาย อาทิ ด้านกฎระเบียบระหว่างประเทศ กฎหมายภายใน นโยบายการประมง ตลอดจน การจัดการประมง การตรวจสอบความปลอดภัยก่อนการปฏิบัติงานในทะเล เรือประมงและเครื่องมือทำการประมง ความรู้เกี่ยวกับการเดินเรือและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ความรู้ทักษะด้านการใช้วิทยุโทรคมนาคม ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการดำรงชีพและความปลอดภัยบนเรือ วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล เทคนิคการเก็บตัวอย่าง การบันทึกข้อมูลรายงานผล เป็นต้น" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
ด้านนายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ความรู้ที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมผู้สังเกตการณ์บนเรือ (Observer Onboard) ได้รับ จะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมและใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการบันทึกข้อมูลการทำประมง อาทิ ชนิดของเครื่องมือที่ใช้ทำการประมง ชนิดสัตว์น้ำ ปริมาณสัตว์น้ำ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงอัตราการจับสัตว์น้ำ และการประเมินทรัพยากรประมงเพื่อนำไปสู่การจัดการประมงที่ยั่งยืน เป็นเครื่องยืนยันและสร้างความมั่นใจให้กับนานาชาติว่ากิจกรรมการทำประมงของเรือประมงไทยไม่เกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมายอย่างแน่นอน เพื่อคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำและการจัดการร่วมกันของนานาประเทศที่เข้าไปทำการประมงในทะเลสากล ก่อให้เกิดการยอมรับต่อสินค้าประมงที่มีการส่งออกซึ่งการได้มาของกระบวนการจับ การผลิต และการส่งออก ส่งผลให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศชาติและความมั่นคงต่อทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนตลอดไป
สำหรับพิธีมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้ผ่านการอบรมฯ ในวันนี้ ถือเป็นการยืนยันความพร้อมของประเทศไทย ในการส่งผู้สังเกตการณ์ไปร่วมสังเกตการณ์การจับสัตว์น้ำของเรือประมงและเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการทำประมงอย่างรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญในการตรวจติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังกิจกรรมการทำประมง และเป็นผู้เก็บข้อมูลสำคัญสำหรับนำไปวางแนวทางบริหารจัดการด้านการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างเหมาะสม โดยบนเรือประมงจะต้องมีผู้สังเกตการณ์ ลงไปปฏิบัติงานบนเรือ 5 % ของการลงแรงประมงในรอบ 1 ปี เช่น เรือประมง ออกทำประมง 300 วัน จะต้องมีผู้สังเกตการณ์ จำนวน 15 วัน ส่วนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำจะต้องมีผู้สังเกตการณ์ลงเรือ 100 % คือ ตลอดเวลาที่มีการขนถ่ายฯ เพื่อตรวจสอบว่าตรงตามที่แจ้ง Port In – Port Out หรือไม่ เพื่อเป็นการป้องปรามปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายให้หมดไป
ในการนี้ ผู้ประกอบการเรือประมงนอกน่านน้ำและเรือขนถ่ายสัตว์น้ำที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมงเรียบร้อยแล้ว สามารถแจ้งความประสงค์มายังกรมประมง เพื่อขอรับผู้สังเกตการณ์ลงเรือได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีประมงทะเลลึก กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดคู่มือและแบบฟอร์มต่างๆ ได้ที่ www.fisheries.go.th/observer หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.2562 0533 ในวันและเวลาราชการ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit