มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สงกรานต์ไทย(ปีนี้) เปลี่ยนไปหรือเหมือนเดิม? :กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ

11 Apr 2016
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) สงกรานต์ไทย (ปีนี้) เปลี่ยนไปหรือเหมือนเดิม? :กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,081 ตัวอย่างจากจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายขั้น (Stratified Multi-Stage Sampling) จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการตั้งแต่เก็บรวบรวมข้อมูลจนถึงการเขียนรายงานผลการสำรวจอยู่ระหว่างวันที่ 1-9 เมษายน 2559 โดยผลการสำรวจ พบว่า

เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามตัวอย่างแกนนำชุมชนถึงความตั้งใจในการเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้ ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 87.8 ระบุตั้งใจจะเดินทาง ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 12.2เท่านั้นที่จะไม่ไปไหน

และเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามตัวอย่างแกนนำชุมชนถึงกิจกรรมที่ตั้งใจจะทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้นั้นผลการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่ยังคงมุ่งมั่นในการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของไทย โดยร้อยละ 86.0 ระบุตั้งใจจะไปรดน้ำอวยพรผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ร้อยละ 83.7 ระบุตั้งใจจะไปร่วมทำบุญตักบาตร/ร่วมงานทำบุญตามประเพณี ร้อยละ 78.4 ระบุจะไปสรงน้ำพระ นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบว่าร้อยละ 78.3 ระบุจะไปท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยว ร้อยละ 65.9 ระบุร่วมกิจกรรมกับคนในครอบครัว ร้อยละ 48.8 ระบุจะไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง ร้อยละ 47.5 ระบุ เล่นน้ำสงกรานต์/การละเล่น ในขณะที่ร้อยละ 37.7 ระบุตั้งใจจะไปเลี้ยง/สังสรรค์กับเพื่อน/คนรู้จัก ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมชนถึงสิ่งที่อยากให้คนไทยร่วมมือร่วมใจกันทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้นั้น พบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 อยากให้คนไทยทุกคนร่วมใจกันถวายพระพรในหลวงให้ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง/ให้ทรงหายจากการประชวรโดยเร็ว ร้อยละ 61.4 ระบุร่วมมือร่วมใจกันประหยัดน้ำ/ไม่อยากให้เล่นน้ำมาก/เล่นน้ำให้ประหยัดกว่าเดิม/ประหยัดน้ำใช้เท่าที่จำเป็นเล่นแต่พองาม ร้อยละ 58.5 ระบุอยากให้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้/ช่วยสืบสานประเพณีนี้ต่อไปอย่างถูกต้อง/รักษาประเพณีไทย/รักษาประเพณีเก่าๆเช่นการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ พ่อแม่/สืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม/การอนุรักษ์ความเป็นไทย ร้อยละ 15.3 ระบุร่วมกันเล่นน้ำอย่างมีวินัย/การเล่นน้ำตามประเพณี/ลดความรุนแรงในการเล่นน้ำ/เล่นน้ำอยู่ในขอบเขต/เล่นน้ำด้วยความระมัดระวังให้ปลอดภัย/เล่นน้ำอย่างสร้างสรรค์/ลดความรุนแรงในการเล่นน้ำ ร้อยละ 14.8 ระบุอยากให้ขับขี่ปลอดภัย/การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย/อยากให้มีความเห็นใจกันในเรื่องการใช้รถใช้ถนน/ร่วมมือกันลดอุบัติเหตุ/การขับขี่ด้วยความระมัดระวัง/ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ/ช่วยกันรักษาความปลอดภัย/ขับรถไม่ประมาท

ในขณะที่เมื่อสอบถามถึงประเด็นที่รู้สึกวิตกกังวลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้ พบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 56.4 ระบุกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ/อุบัติเหตุบนท้องถนน/อุบัติเหตุจากความประมาท รองลงมาคือร้อยละ 35.7ระบุกังวลเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาและการขับขี่/การใช้รถใช้ถนน/เมาแล้วขับ/ความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์/การใช้ถนนร่วมกัน/ความปลอดภัยต่างๆ/ความปลอดภัยทางถนน/ความปลอดภัยในการเดินทาง ร้อยละ 23.8ระบุกังวลเกี่ยวกับการทะเลาะวิวาท/วัยรุ่นทะเลาะวิวาท/วัยรุ่นรวมกลุ่มทะเลาะกัน/การเล่นสงกรานต์ของวัยรุ่นมีความรุนแรง/เด็กแวนซ์ออกมาขับรถแข่งกัน นอกจากนี้ร้อยละ 16.0 ระบุกังวลเรื่องน้ำแล้ง ไม่มีน้ำใช้/ปัญหาการใช้น้ำ/การใช้น้ำมากเกินไป/ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และร้อยละ12.7ระบุกังวลว่ามิจฉาชีพจะฉวยโอกาสในขณะที่ประชาชนเล่นน้ำ / การลักขโมย/มิจฉาชีพจะแฝงตัวในช่วงเทศกาลอาจก่อให้เกิดอาชญากรรมได้ / ปัญหาอาชญากร/ปัญหาลักเล็กขโมยน้อยในช่วงสงกรานต์/ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินภายในชุมชน ตามลำดับ )

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงความมั่นใจในมาตรการ/การทำงานป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้นั้น พบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 86.9 ระบุมั่นใจว่าจะทำได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 10.1 ระบุไม่มั่นใจ และร้อยละ 3.0 ไม่ระบุความคิดเห็น ทั้งนี้ แกนนำชุมชนร้อยละ 92.1 ระบุหมู่บ้าน/ชุมชนของตนได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้แล้ว ในขณะที่ร้อยละ 7.9 ระบุยังไม่ได้เตรียม

ประเด็นสำคัญสุดท้ายจากการสำรวจในครั้งนี้คือ เมื่อสอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 47.3 ระบุรู้สึกว่าแตกต่างจากสงกรานต์ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในเรื่อง การใช้น้ำ /ระเบียบในการเล่นสงกรานต์/ความเข้มงวดในการขับขี่ รวมถึงการรณรงค์อนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์ดั้งเดิมของไทย ในขณะที่บางส่วนระบุว่า บรรยากาศสงกรานต์ปีนี้ดูเงียบๆ ไม่เหมือนที่ผ่านมา/คนไม่ค่อยตื่นตัวไม่คึกคักเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 52.7 ระบุไม่แตกต่าง/เหมือนเดิม

คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม

ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 86.7 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 13.3 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 4.4 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 25.7 ระบุอายุ 40-49 ปีและร้อยละ 69.9 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 30.8 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 47.2 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 5.5 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. และร้อยละ 16.5 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ

ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 68.2 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 16.4 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ15.4ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิรับจ้าง ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 11.1ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 13.0 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,001–15,000 บาทต่อเดือนร้อยละ 22.6 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 53.3 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตามรายภูมิภาคพบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 34.0 อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือร้อยละ 25.5 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ร้อยละ 18.5 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือร้อยละ 13.5 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะที่ร้อยละ 8.5 ระบุอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ