วันนี้ (7 เมษายน 2559) เวลา 09.00 น. ณ กรมการขนส่งทางบก นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการนำระบบ GPS มาใช้ในการบริหารและติดตามการเดินรถโดยสารสาธารณะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตามโครงการ"มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS" เพื่อการติดตามพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถแบบเรียลไทม์ พร้อมกันนี้ ได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น "DLT GPS" เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ รถโดยสารสาธารณะสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการติดตามตรวจสอบความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะผ่านทางแอพพลิเคชั่นดังกล่าวได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 นี้ ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมตรวจสอบความปลอดภัยและยกระดับมาตรฐานคุณภาพบริการของรถโดยสารสาธารณะผ่านทางแอพพลิเคชั่น "DLT GPS"
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการมั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS เป็นการยกระดับมาตรฐานระบบขนส่งสาธารณะของประเทศให้มีความปลอดภัย โดยให้มีระบบติดตามและควบคุมจากหน่วยงานภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 กำหนดให้รถโดยสารสาธารณะ รถลากจูงและรถบรรทุกขนาดใหญ่ (10 ล้อขึ้นไป) ที่จดทะเบียนใหม่ ต้องติดตั้ง GPS ทันที ยกเว้นรถสองแถว และรถโดยสารหมวด 4 ที่วิ่งภายในจังหวัดในส่วนภูมิภาค ไม่ต้องติดตั้ง GPS ส่วนรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 25 มกราคม 2559 กรมการขนส่งทางบกกำหนดระยะเวลาดำเนินการของรถแต่ละประเภทตามความเหมาะสมเพื่อให้เจ้าของรถและผู้ประกอบการขนส่งมีเวลาในการเตรียมการเชื่อมโยงข้อมูล แก้ไขและติดตั้ง GPS ให้เป็นไปตามที่กำหนด ซึ่งรถโดยสารสาธารณะทุกคันจะต้องติดตั้ง GPS ภายในปี 2560 สำหรับรถบรรทุกจะต้องติดตั้ง GPS ครบทุกคันภายในปี 2562 ภายใต้การกำกับดูแลโดยศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 นี้ จะตรวจสอบการเดินรถโดยสารสาธารณะตลอดเส้นทาง เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนที่ต้องเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานของศูนย์บริหารจัดการเดินรถ ด้วยระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบกจะรับข้อมูลจากรถที่ติดตั้ง GPS ทุกคันแบบเรียลไทม์ และมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามความเคลื่อนไหวของรถในระบบตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งในส่วนกลาง และศูนย์ฯ ภูมิภาคใน 11 จังหวัด 14 แห่ง ซึ่งข้อมูลของรถจะปรากฏในระบบศูนย์ฯ ทันทีเมื่อมีการใช้รถและทันทีที่เกิดการกระทำผิด ระบบจะแจ้งเตือนพร้อมระบุข้อมูล เช่น การใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด การขับรถเกินชั่วโมงทำงาน ไม่แสดงตัวคนขับ และการถูกร้องเรียนผ่านแอพพลิเคชั่น "DLT GPS" ที่เปิดให้ผู้ใช้บริการรถโดยสารรถสาธารณะและประชาชนทั่วไป สามารถค้นหาตำแหน่งของรถและร้องเรียนหรือแจ้งเหตุมายังศูนย์ฯ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเป็นการใช้งานผ่านทางสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตบนระบบปฏิบัติการ Android เพียงระบุหมายเลขทะเบียนรถ ระบบจะแสดงตำแหน่งพิกัดของรถ ความเร็วที่ใช้ และรายละเอียดของพนักงานขับรถ พร้อมระบบร้องเรียน และช่องทางรับแจ้งเหตุ เช่น กรณีรถโดยสารเกิดอุบัติเหตุ หรือรถเสียระหว่างทาง โดยแอพพลิเคชั่นจะรายงานเหตุการณ์พร้อมแสดงพิกัดของรถเข้าสู่ฐานข้อมูลของศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS แบบเรียลไทม์ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากความร่วมมือจากผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการจะเป็นส่วนสำคัญในการติดตามรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถนำข้อมูลมาพิจารณาแนวทางการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนของประเทศอย่างยั่งยืน
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบัน (6 เมษายน 2559) มีรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกติดตั้ง GPS แล้วจำนวนทั้งสิ้น 46,957 คัน เป็นรถโดยสารประจำทาง 3,232 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง 4,034 คัน รถบรรทุกไม่ประจำทาง 19,093 คัน รถบรรทุกส่วนบุคคล 12,240 คัน และรถอื่น ๆ 8,358 คัน ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการและเจ้าของรถเร่งทยอยนำรถเก่าที่ติดตั้ง GPS ไว้ก่อนแล้ว เข้ารับการตรวจสอบการเชื่อมโยงข้อมูล หรือสำหรับรถที่ยังไม่มี GPS ให้ดำเนินการติดตั้งให้แล้วเสร็จตามเงื่อนไข ซึ่งปัจจุบันมี GPS ที่ผ่านการรับรองแล้วจำนวน 63 รุ่น จากผู้ให้บริการระบบจำนวน 38 บริษัท โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่ http://apps.dlt.go.th/esb/approve.html หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก โทรศัพท์ 02-271-8605 หรือทางอีเมล์ [email protected] เพื่อร่วมเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและลดปัญหาอุบัติเหตุจากพฤติกรรมการขับรถอย่างยั่งยืน
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit