มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง 1 ปี มาตรา 44 กับความมั่นใจของประชาชน :กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ

07 Apr 2016
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง 1 ปีมาตรา44 กับความเชื่อมั่นของประชาชน :กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,081 ตัวอย่างจากจังหวัดทั่ว ทุกภูมิภาคของประเทศ โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายขั้น (Stratified Multi-Stage Sampling) จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1- 6 เมษายน 2559 ผลการสำรวจ พบว่า

เมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมชนถึงการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าตัวอย่างร้อยละ 59.7 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 22.9 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 8.1 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 8.5 ติดตามเป็นบางวัน และร้อยละ 0.8 ระบุไม่ได้ติดตามเลย

ทั้งนี้เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามตัวอย่างถึงการรับรู้รับทราบกรณีการประกาศใช้กฎหมายมาตรา 44 ครบรอบ 1 ปีนั้น พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 84.3 รับทราบว่าได้มีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวมาครบ 1 ปีแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 15.7 ระบุไม่ทราบมาก่อน/เพิ่งทราบ

ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เห็นว่าเกิดขึ้นภายหลังการประกาศใช้กฎหมายมาตรา 44 โดยหากพิจารณาเฉพาะค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในลักษณะที่ " ดีขึ้น" นั้นพบว่า ร้อยละ 79.2 ระบุสถานการณ์ภายในประเทศโดยรวมดีขึ้น รองลงมาคือร้อยละ 70.9 ระบุ ความรักความสามัคคีของคนในชาติดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 66.1 ระบุความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนดีขึ้น ร้อยละ 65.8 ระบุการให้บริการประชาชนของข้าราชการ/หน่วยงานราชการดีขึ้น ร้อยละ 64.9 ระบุการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชนดีขึ้น ร้อยละ 62.6 ระบุบรรยากาศความสัมพันธ์กับต่างประเทศดีขึ้น ร้อยละ 60.5 ระบุบรรยากาศการท่องเที่ยวดีขึ้น อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าในด้านการค้าและการส่งออกนั้น ตัวอย่างร้อยละ 31.9 ระบุดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 38.9 ระบุดีเหมือนเดิม ตามลำดับ

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อสอบถามถึง ความพึงพอใจต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในการใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาตินั้นพบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่เกือบร้อยละร้อย คือร้อยละ 93.8 ระบุพอใจในเรื่องดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 6.2 ระบุไม่พอใจ ทั้งนี้เมื่อสอบถามต่อไปถึง ความเชื่อมั่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะใช้กฎหมายมาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์ ตามที่รับปากไว้กับประชาชน นั้น พบว่าตัวอย่างร้อยละ 83.4 ระบุยังคงเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ โดยสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากการสำรวจในช่วงเดือนเมษายน 2558 ที่เริ่มประกาศใช้เกือบร้อยละ 20

ประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการสำรวจในครั้งนี้ก็คือ เมื่อสอบถามถึงผลการดำเนินงานตามนโยบาย/มาตรการของรัฐบาลและคสช. ที่พอใจมากที่สุดนั้นพบว่า ร้อยละ 34.4 ระบุพอใจในผลงานด้านการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น รองลงมาคือร้อยละ 15.8 ระบุพอใจในมาตรการช่วยเหลือภัยแล้ง/การบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง ร้อยละ 10.2 ระบุพอใจในการลดความขัดแย้ง/การส่งเสริมความรักความสามัคคีของคนในชาติ/การรักษาความสงบเรียบร้อย/การสร้างความสงบในประเทศและพื้นที่ต่างๆ/การสร้างความปรองดอง นอกจากนี้ ร้อยละ 5.2 ระบุพอใจในผลงานด้านการปราบปรามยาเสพติด และร้อยละ 4.8 ระบุพอใจในนโยบายการจัดหาแหล่งน้ำในการช่วยเหลือเกษตรกร/การบริหารจัดการน้ำ/การบริหารแหล่งน้ำ ตามลำดับ

คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม

ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 86.7 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 13.3 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 4.4 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 25.7 ระบุอายุ 40-49 ปีและร้อยละ 69.9 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 30.8 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 47.2 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 5.5 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. และร้อยละ 16.5 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ

ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 68.2 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 16.4 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ15.4 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 11.1ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 13.0 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,001–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 22.6 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ตัวอย่างแกนนำชุมชน ร้อยละ 53.3 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตามรายภูมิภาคพบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 34.0 อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือร้อยละ 25.5 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ร้อยละ 18.5 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ร้อยละ 13.5 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะที่ร้อยละ 8.5 ระบุอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ

ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน โทรศัพท์ 086 – 971-7890 หรือ 02-540-1298

ติดตามผลสำรวจของมาสเตอร์โพลล์ได้ที่ www.masterpoll.net