ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความสุขคนไทยยุค รัฐบาล และ คสช.

07 Apr 2016
ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน เปิดสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) โดยพระพรหมมังคลาจารย์ เจ้าคุณธงชัย วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารได้เดินทางทำพิธีเปิดสำนักงานแห่งนี้เมื่อวันเสาร์ที่ 19 มีนาคม 2559 มุ่งสำรวจความสุขคนไทยและประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่ต้องการคำตอบจากสาธารณชน โดยเปิดเว็บไซต์ในต่างประเทศรองรับการเข้าถึงข้อมูลผลวิจัยต่างๆ ที่ www.superpollthailand.net และเปิดเผยผลวิจัยความสุขคนไทยยุครัฐบาลและ คสช. กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกสาขาอาชีพทุกภูมิภาคของประเทศใน 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา มุกดาหาร ขอนแก่น อุดรธานี ปทุมธานี ลพบุรี นครปฐม ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส จำนวนทั้งสิ้น 6,010 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 21 – 30 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่า

คนไทยมีความสุขมากที่สุดเมื่อเห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันในการแสดงความจงรักภักดีต่อในหลวง สูงถึง 9.53 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ในขณะที่ ความสุขของคนไทยต่ำสุดเมื่อนึกถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรม มีคะแนนความสุขที่ 5.93 และ 6.14 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบความสุขคนไทยยุครัฐบาลและคสช. ยุคนี้กับ รัฐบาลนักการเมือง พบว่า ความสุขของคนไทยยุครัฐบาลและคสช. อยู่ที่ 6.81 ยังสูงกว่า ความสุขคนไทยยุครัฐบาลนักการเมือง อยู่ที่ 6.59 และในอีกหลายเรื่องสำคัญ ได้แก่ การเคลื่อนไหวทางกาเมือง ความสุขคนไทยยุคนี้อยู่ที่ 5.93 แต่ยุคนักการเมืองอยู่ที่ 3.01 สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ยุคนี้อยู่ที่ 6.16 แต่ยุคนักการเมืองอยู่ที่ 3.09

ดร.นพดล กล่าวต่อด้วยว่า ล่าสุด วารสารมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด (University of Oxford) และสมาคมวิจัยความคิดเห็นสาธารณชนโลก (The World Association for Public Opinion Research) ได้ตีพิมพ์ข่าว ผลวิจัยความสุขคนไทยว่า คนไทยสุขเพราะใช้ชีวิตพอเพียงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รายละเอียดอ้างอิงที่ http://ijpor.oxfordjournals.org/content/21/4/566.extract

จึงน่าจะเป็นสิ่งยืนยันจากการยอมรับของสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาที่เชื่อถือได้ของสังคมโลกว่าคนไทยทั้งประเทศควรหันมาใช้ชีวิตพอเพียงอย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาความเป็นประเทศที่ประชาชนมีความสุข

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.4 เป็นชาย ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 10.4 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 23.8 อายุระหว่าง 20–29 ปี ร้อยละ 25.2 อายุระหว่าง 30–39 ปี ร้อยละ 22.1 อายุระหว่าง 40–49 ปี และ ร้อยละ 18.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 78.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 21.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 28.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 24.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 20.4 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 14.0 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.7 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 3.3 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 1.8 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ