กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย 7 สมาคม ชื่นชมกระทรวงอุตสาหกรรม และสมอ.ที่ดำเนินการอย่างเที่ยงธรรมและรวดเร็ว จนเห็นผลงานได้อย่างชัดเจน และมีส่วนช่วยแก้ปัญหาวิกฤติการนำเข้าสินค้าเหล็กไม่เป็นไปตามมาตรฐานได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผลสำเร็จการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ดังนี้
สำหรับมาตรการระยะกลาง-ยาวนั้น กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาทบทวน พรบ. ผลิตภัณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม ให้มีความรัดกุมขึ้น เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าเหล็กโดย อ้างนำเข้าเป็นครั้งคราว หรือ อ้างนำเข้ามาใช้เองแต่มีการนำไปแปรรูปเป็นสินค้าอื่นเพื่อจำหน่ายต่อ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจรับรองมาตรฐานตามปกติ ซึ่งมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสาธารณะ และไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการที่ดำเนินการตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมครบถ้วน
นอกจากนั้น อุตสาหกรรมเหล็กไทยยังได้เรียนพบนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง และนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เพื่อให้เข้มงวดตรวจจับการนำเข้าสินค้าเหล็กที่หลบเลี่ยงอากรนำเข้า อากรทุ่มตลาด และอากรปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ในหลายรูปแบบ ทั้งการใช้ช่องโหว่คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงงานผลิต แล้วส่งออกสินค้าเหล็กจากเขตปลอดอากรในประเทศไทย นำเข้ามายังประเทศไทยเพื่อเลี่ยงอากรเอดีและเซฟการ์ด การสำแดงพิกัดอันเป็นเท็จ การสำแดงประเทศแหล่งกำเนิดอันเป็นเท็จ มีผลให้ประเทศชาติสูญเสียอากรที่ควรเป็นรายได้ของรัฐนับหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังและกรมศุลกากร ได้สืบสวนและปราบปรามกรณีต่างๆ อยู่แล้ว และจะดำเนินการโดยเข้มงวดต่อเนื่อง
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยชื่นชมหน่วยงานราชการซึ่งเร่งดำเนินงานบรรเทาปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม นับตั้งแต่ที่ได้เรียนพบ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร้องเรียนปัญหาสินค้าเหล็กทุ่มตลาดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม 7 สมาคมเหล็กยังเรียกร้องว่ารัฐบาลต้องแก้ปัญหาเหล็กนำเข้าทุ่มตลาดแบบบูรณาการร่วมกัน มิฉะนั้น อุตสาหกรรมเหล็กของชาติจะยิ่งถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจุบัน ประเทศไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าสุทธิ (Net Import) สินค้าเหล็กมากสุดเป็นลำดับที่สองของโลก รองจากอเมริกา ทั้งที่เศรษฐกิจไทยมีขนาดของ GDP เทียบสัดส่วนเป็นเพียง 1 ใน 43 ของอเมริกาเท่านั้น ซึ่งมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างยั่งยืน จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี) มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น(เซฟการ์ด) โดยรวดเร็วทันการณ์ รวมถึงเริ่มบังคับใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน(CVD) ได้จริงทั้งที่มีการออกกฎหมายนี้มาแล้วกว่า 17 ปี ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายให้สามารถตอบโต้การหลบเลี่ยงอากร (Anti-Circumvention) ดังเช่นประเทศที่เน้นการค้าเสรีอื่นๆ ก็ดำเนินการอยู่นานแล้ว โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กจะขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เพื่อเรียนถามความคืบหน้าต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit