ด้านสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การ 2,269 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะมีน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภคได้จนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ หรืออาจถึงกลางเดือนสิงหาคม ส่วน 2 เขื่อนหลักลุ่มแม่กลอง ไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีปริมาณน้ำใช้การถึง 3,120 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนอุบลรัตน์ ยังมีน้ำสำรองจาก Dead Storage ใช้ได้จนถึงเดือนกรกฎาคม และเขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำใช้การ 67 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณการระบายน้ำ 4.8 แสนลบ.ม./วัน คาดว่ามีน้ำใช้จนถึงเดือนสิงหาคม และสถานการณ์น้ำเค็ม ไม่น่าเป็นห่วง ล่าสุดวัดค่าความเค็มที่คลองสำแล จ.ปทุมธานี มีความเค็ม 0.15 กรัม/ลิตร ซึ่งยังใช้ผลิตน้ำประปาได้
ส่วนปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ถึงปัจจุบัน รวม 34 วัน มีปฏิบัติการฝนหลวงรวม 457 เที่ยวบิน ส่งผลให้เกิดฝนตกใน 43 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 8 จังหวัด ภาคกลาง 12 จังหวัด ภาคอีสาน 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ภาคใต้ 4 จังหวัด มีพื้นที่ฝนตกรวม 42 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 13 เขื่อน รวม 47 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในดินและเติมน้ำในเขื่อนได้
นอกจากนี้ พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 2 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.6 ล้านไร่ รอเก็บเกี่ยวอีก 0.34 ล้านไร่ และมีการพยากรณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาเพิ่มเติมว่า ในช่วงวันที่ 7 – 22 เมษายนนี้ อาจมีฝนตกครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ โดยในวันที่ 7 – 14 เมษายน จะมีฝนตกภาคเหนือบริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน ปิง น่าน และในวันที่ 15 – 22 เมษายน จะมีฝนตกบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล ป่าสัก เจ้าพระยา และท่าจีน
"ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการวางแผนการเพาะปลูกในฤดูกาลปี 2559 ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการประกาศให้พี่น้องเกษตรกรทราบและสามารถวางแผนการผลิตได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเช่นที่ผ่านมา คาดว่าจะเร่งดำเนินการและประกาศให้ทราบทั่วกันในช่วงหลังสงกรานต์นี้ สุดท้ายนี้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ขอให้พี่น้องประชาชนใช้ช่วงเวลานี้ร่วมรักษาประเพณีอันดีงาม และช่วยกันประหยัดน้ำ" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit