จากการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 32 ของสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย "From Diagnosis to Immunotherapy in Allergic Diseases" เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 ณ ห้องเวิลด์ บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ศ.พญ. จรุงจิตร์ งามไพบูลย์ กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้ฯและประธานสมาคมฯ กล่าวในการบรรยายเรื่อง "Delayed Colonization of Gut Microbiotics in C-Section Infants: Causes, Consequence & Solutions" ว่า การผ่าคลอดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาภูมิต้านทานในเด็กล่าช้า โดยพบจุลินทรีย์สุขภาพ "บิฟิโดแบคทีเรีย" (Bifidobacteria colonization) ในลำไส้น้อยกว่าเด็กที่คลอดธรรมชาติ ซึ่งจุลินทรีย์สุขภาพนี้เป็นภูมิต้านทานตั้งต้นที่ส่งผ่านจากแม่สู่ลูกผ่านทางช่องคลอดของคุณแม่ เพื่อสร้างรากฐานระบบภูมิต้านทาน โดยระบบภูมิต้านทานนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต หากพลาดช่วงโอกาสทองนี้ ระบบภูมิต้านทานอาจไม่สามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพที่ควรจะเป็น
เด็กผ่าคลอดมีโอกาสเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากภูมิต้านทานมากกว่าเด็กคลอดธรรมชาติ ข้อมูลจากสำนักงานทะเบียนราษฎร์ (National Registry) ประเทศเดนมาร์ก ในเด็กจำนวน 1.9 ล้านคน ช่วงอายุแรกเกิดถึง 15 ปี ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1977-2012 พบว่าเด็กผ่าคลอดมีความเสี่ยงต่อการมีภูมิต้านทานต่ำ (immune deficiencies) เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 เสี่ยงต่อโรคหอบหืด (asthma) เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 และเสี่ยงต่อโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel diseases) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20
อย่างไรก็ตาม โภชนาการในช่วงแรกของชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณแม่สามารถกำหนดได้ จะส่งผลต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว โดยเฉพาะ "นมแม่" ซึ่งมีบทบาทในการเร่งเสริมสร้างภูมิต้านทานที่จำเป็นอย่างยิ่งในเด็กผ่าคลอด เพราะนมแม่มีองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยส่งเสริมภูมิต้านทานหลายชนิด เช่น โพรไบโอติก (จุลินทรีย์สุขภาพ) และ พรีไบโอติก (อาหารของจุลินทรีย์สุขภาพ) ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเร่งเพิ่มปริมาณจุลินทรียสุขภาพในระบบทางเดินอาหารซึ่งมีเซลล์ภูมิต้านทานมากถึงร้อยละ 70 เด็กที่ทานนมแม่จึงมักจะมีจุลินทรีย์สุขภาพมากกว่าเด็กที่ทานนมผสมสูตรทั่วไป ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์และหน่วยงานต่างๆ ควรช่วยกันสนับสนุนให้เด็กได้รับนมแม่ให้ได้นานที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากการผ่าคลอด และส่งเสริมระบบภูมิต้านทานตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต
ถึงแม้ว่าทั้งเด็กที่คลอดธรรมชาติและเด็กผ่าคลอดสมควรได้รับนมแม่ล้วนเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนหลังคลอด แต่ในหลายกรณีแม่ไม่สามารถให้นมได้เนื่องจากไม่มีน้ำนมหรือจากสาเหตุอื่นๆ จึงมีการวิจัยวิธีการเสริมจุลินทรีย์สุขภาพให้กับเด็กผ่าคลอด พญ. จรุงจิตร์ กล่าวถึงงานวิจัยที่มีชื่อว่า "จูเลียส (Julius)" ผลงานการวิจัยของ รศ.พญ. วรนุช จงศรีสวัสดิ์ กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับทีมวิจัยจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งศึกษาการให้นมผสมที่เสริมซินไบโอติกในเด็กผ่าคลอดในประเทศไทยและสิงคโปร์ โดยใช้จุลินทรีย์สุขภาพบิฟิโดแบคทีเรียบ เบรเว่ (บี. เบรเว่) เอ็ม-16วี (Bifidobacterium Breve (B.Breve) M-16V) ซึ่งเป็นหนึ่งในจุลินทรีย์ที่พบมากที่สุดในนมแม่กับใยอาหารพรีไบโอติก 2 ชนิด คือ GOS และ IcFOS ผสมกันในสัดส่วน 9:1 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับพรีไบโอติกในนมแม่ พบว่า ซินไบโอติกช่วยเพิ่มปริมาณบิฟิโดแบคทีเรียในเด็กผ่าคลอดได้ใกล้เคียงกับเด็กที่คลอดธรรมชาติที่ทานนมแม่ อีกทั้งปรับสภาพลำไส้ให้มีสภาพเป็นกรดซึ่งจะช่วยลดการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรค และยังพบว่าแนวโน้มการเกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) ลดลงใน 16 สัปดาห์
"ช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปีแรกเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างภูมต้านทานในเด็ก ดังนั้นพ่อแม่ควรให้ความใส่ใจในโภชนาการเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการให้นมแม่ให้กับเด็กที่ผ่าคลอด ซึ่งต้องการการดูแลใส่ใจเป็นพิเศษในการเสริมภูมิต้านทานในช่วงแรกของชีวิต เพราะสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงของเด็กจะเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาในด้านสติปัญญาและพัฒนาการในด้านอื่นๆที่จำเป็นต่อไป" พญ. จรุงจิตร์กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit