บ้านประชารัฐ: ยิ่งทำ ยิ่งน่าห่วง

20 Apr 2016
บ้านประชารัฐ จะมีลักษณะ "ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา" หรือไม่ ดร.โสภณ จึงเสนอแง่มุมให้รัฐบาลพิจารณาเพื่อประเทศชาติ

เมื่อวานนี้ (19 เมษายน 2559) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (http://bit.ly/1rgZ9NB) ได้ให้ความเห็นชอบต่อโครงการบ้านประชารัฐ ทั้งนี้มีสาระสำคัญว่า "มีวัตถุประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวและเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองบนที่ดินราชพัสดุเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจจากที่ดินราชพัสดุที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าที่ดินราชพัสดุ โดยให้สถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนพิเศษ แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) วงเงินรวม 4,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อให้เช่าระยะสั้นและระยะยาว และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อนรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมถึงการซ่อมแซมหรือต่อเติมที่อยู่อาศัยบนพื้นที่ดินราชพัสดุรายละไม่เกิน 5 แสนบาท"

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย(www.area.co.th) วิพากษ์โครงการนี้ว่า:

1. ในปัจจุบันข้าราชการส่วนมากก็มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองอยู่แล้ว ไม่มีใครบ่นว่าราคาที่อยู่อาศัยแพงเกินไป ซื้อไม่ไหว จึงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งมีที่อยู่อาศัยใหม่แต่อย่างใด เว้นแต่จะหวังช่วยผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินในการสร้างที่อยู่อาศัยขายหรือให้เช่า

2. จากการที่ทางราชการเลือกปรึกษากับผู้ประกอบการายใหญ่ ก็คงให้การสนับสนุนรายใหญ่มากกว่ารายย่อยหรือกลุ่มผู้ประกอบการประเภท SMEs ทั้งที่หากรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ควรช่วย SMEs มากกว่าไปช่วยผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีผลกำไรดีมากอยู่แล้ว

3. การสร้างบ้านเช่าให้ข้าราชการนั้น ในปัจจุบันระบบบ้านเช่าของไทยก็มีประสิทธิผลดี ไม่มีใครบ่นว่าค่าเช่าแพงเกินไป จึงไม่จำเป็นต้องสร้างบ้านเช่าใหม่แก่ข้าราชการโดยเฉพาะ ยิ่งกว่านั้นกิจการห้องเช่า บ้านเช่าของเอกชน ก็เป็นวิสาหกิจ SMEs ที่ควรได้รับการส่งเสริม ทางการกลับจะไปสร้างแข่งกับตลาดที่ทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว เท่ากับเป็นการทำลายธุรกิจรายย่อย ส่งเสริมรายใหญ่ ทำลายฐานเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่

4. ที่ดินราชพัสดุที่มีมูลค่าสูง ควรนำไปประมูลให้เอกชนเช่าทำศูนย์การค้า จะได้รายได้สูง ๆ นำเงินเข้าหลวงมาพัฒนาประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องมาสร้างที่อยู่อาศัยที่ระบบที่อยู่อาศัยไทยก็สามารถทำการหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว การนี้แสดงให้เห็นว่าทางราชการใช้ทรัพย์ของแผ่นดิน (ที่ราชพัสดุ) อย่างขาดประสิทธิภาพหรือไม่

ดร.โสภณ จึงหวังให้ทางราชการพิจารณาทบทวน แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดี ให้มุ่งช่วย SMEs และประชาชน มากกว่าไปช่วยผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ที่ได้กำไรงามโดยไม่เดือดร้อนใด ๆ อยู่แล้วผู้แถลง:

ดร.โสภณ พรโชคชัย ([email protected]) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน