พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง โดยดำเนินโครงการสำคัญ ได้แก่ ๑) การพัฒนาธัญบุรีโมเดลสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี โดยเปิดอุทยานรีไซเคิล ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อยอดการพัฒนาโครงการธัญบุรีโมเดล ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ให้มีความหลากหลาย เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ๒) MOU กับเทศบาลนคร ๒๙ แห่ง และเมืองพัทยา เพื่อพัฒนาระบบคุ้มครองดูแลคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน ๓) บ้านมิตรไมตรี การเปิดบ้านมิตรไมตรีในภูมิภาคเพื่อขยายบริการสวัสดิการแก่คนไร้ที่พึ่งที่ไม่ต้องการอยู่ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เป็นการจัดสวัสดิการแก่คนไร้ที่พึ่งในชุมชน ให้สามารถเข้าถึงได้ตามความต้องการ ๔) บ้านน้อยในนิคม นำคนไร้ที่พึ่งในสถานคุ้มครองฯ ที่ผ่านการเตรียมความพร้อมไปพัฒนาทักษะอาชีพและทักษะชีวิต ในนิคมสร้างตนเองนำร่อง ๕ แห่ง เมื่อครบกำหนด ๓ เดือน จะทำการประเมิน หากมีความพร้อมจะคืนสู่ครอบครัวและชุมชน และยังมีเงินทุนประกอบอาชีพ จากกองทุนเป็นเงินทุนตั้งต้น โดยมีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งคอยติดตามดูแลเมื่อออกจากนิคม ๕) การจัดประชุมบูรณาการกับ NGO เพื่อประสานการปฏิบัติงานและแลกเปลี่ยนแนวคิดในการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง การจัดระเบียบขอทาน ๖) การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องอนุบัญญัติและกฎหมายการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจัดการสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และอนุบัญญัติ ๔ ฉบับ ๗) การแก้ปัญหาคนหายคนนิรนาม ศพนิรนาม คนหายที่มีภาวะด้านสุขภาพจิตไม่สามารถบอกข้อมูลเกี่ยวกับ ตนเองได้เมื่อญาติตามหาไม่พบ คนกลุ่มนี้จะกลายเป็นคนนิรนาม และเป็นคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รับไว้ดูแลในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง รัฐบาลได้มีนโยบายจัดทำฐานข้อมูลคนหายคนนิรนาม ศพนิรนาม โดยได้มอบให้กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพดำเนินงานและมีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสนับสนุนการปฏิบัติงานติดตามคนหายและพิสูจน์ศพนิรนาม พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC มีการรับแจ้งคนหาย สามารถเข้าใช้ระบบฐานข้อมูลที่รัฐบาลจัดทำขึ้น ซึ่งประสานกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่ทำงานร่วมกันทำให้ติดตามคนหายได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จำนวนคนนิรนามลดลงส่งผลต่อการลดจำนวนคนไร้ที่พึ่งที่ต้องเข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งของรัฐ ๘) การทำยุทธศาสตร์การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ โดยพส. ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดทำยุทธศาสตร์การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จ ในเดือนกันยายน ๒๕๕๙ และจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า การประชุมครั้งนี้ได้มีการพิจารณาร่างประกาศคณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการสนับสนุนการดำเนินงานแก่หน่วยงานของรัฐ องค์กรสาธารณะประโยชน์ องค์กรสวัสดิการชุมชน องค์กรภาคเอกชนอื่น สถาบันศาสนา กลุ่มคนไร้ที่พึ่งหรือกลุ่มบุคคลในการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง การปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัด ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวง การพัฒนาสังคมฯ และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสหวิชาชีพในการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กลุ่มที่มีกฎหมายเฉพาะให้การคุ้มครองอยู่แล้ว อาทิ เด็ก พิการ สูงอายุ ฯลฯ เพื่อให้มีกลไกการดำเนินงาน ประสานส่งต่อ แก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งจะเป็นการบูรณาการจากทุกภาคส่วนในการแก้ไข้ปัญหาคนไร้ที่พึ่งให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมได้อย่างยั่งยืน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit