ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ขออนุญาตยกกรณีตัวอย่างวังวรดิศมาเพื่อเป็นกรณีศึกษา โดยวังนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตั้งอยู่บนถนนหลานหลวง และถนนดำรงค์รักษ์ ใกล้ตลาดสะพานขาว ปัจจุบันใช้จัดแสดงเป็น พิพิธภัณฑ์และหอสมุด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
วังนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 หรืออายุ 105 ปีแล้ว มีค่าก่อสร้างเป็นเงินรวม 50,000 บาท ออกแบบโดย Karl Doehring นายช่างชาวเยอรมัน ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เป็นอาคารสูง 2 ชั้น รูปตัวแอล หลังคาทรงจั่วหักมุมตอนปลาย มีความชันมากจนใต้หลังคาสามารถใช้เป็นห้องเก็บของได้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี หลังคาด้านหน้าและด้านข้างมีหน้าต่างเล็กบนลาดหลังคาเพื่อระบายอากาศแบบยุโรป ภายในเป็นพื้นไม้
ลักษณะการตกแต่ง มีลายปูนปั้นที่ผนังตอนบนใกล้หลังคา ขอบอาคารชั้นบนมุขหน้าทางทิศตะวันออก มีเสาอิงรูปครึ่งวงกลม 2 เสา คู่กันเป็นปูนปั้นคล้ายกลีบบัวเรียงกันเป็นชั้นๆ ชั้นล่างเน้นขอบของอาคารโดยรอบด้วยลายปูนปั้นพระทวารและพระแกล มีรูปร่างต่างๆ กัน ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล อาคารนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และผู้ครอบครองปัจจุบัน ก็เมตตาเปิดให้เข้าชม รวมทั้งมีหอสมุดด้วย โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน http://bit.ly/20OlVbsอย่างไรก็ตามหากให้มีการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามมาตรฐานปกติแล้ว จะต้องเสียภาษีอย่างไร เรามาตั้งสมมติฐานกัน
1. สมมติให้วังนี้มีขนาดประมาณ 10 ไร่ หรือ 4,000 ตารางวา ราคาที่ดินแถวนั้น หากคิดตามราคาตลาดก็คงเป็นเงินตารางวาละ 200,000 บาท รวมเป็นเงิน 800 ล้านบาท
2. สิ่งก่อสร้างที่เป็นตัวตึกใหญ่ที่ว่าก่อสร้างในราคา 50,000 บาทนั้น สมมติมีพื้นที่ประมาณ 500 ตารางเมตร หากก่อสร้างตามแบบเดิม อาจต้องใช้เงินค่าก่อสร้างตารางเมตรละ 40,000 บาท หรือรวมเป็นเงิน 20 ล้านบาท หากนับรวมอาคารบริวารอื่นด้วย อาจมีมูลค่าราว 30 ล้านบาท
3. รวมราคาวังนี้เป็นเงิน 830 ล้านบาท หากต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปีละ 1% ก็จะได้เงินภาษีเข้าหลวงปีละ 8.3 ล้านบาทยิ่งในกรณีต่างประเทศ ยิ่งต้องเสียภาษีในอัตราสูง ๆ ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าปราสาทหรือบ้านหลังใหญ่ ๆ ของมหาเศรษฐีจำนวนมาก กลายเป็นของรัฐ โดยมากทายาทยกให้หลวง เพราะไม่มีความสามารถในการจ่ายภาระภาษี และค่าใช้จ่ายในการดูแล รัฐจึงเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมเพื่อหารายได้มาบำรุงและพัฒนาสถานที่ต่อไป
อนึ่งประเด็นที่น่าสนใจหนึ่งก็คือ ค่าก่อสร้างที่ 50,000 บาทเมื่อ 105 ปีก่อนนั้น ปัจจุบันนี้อาจเป็น 20 ล้านบาท ก็เท่ากับว่าตลอดช่วง 105 ปีที่ผ่านมา ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็น 5.87% ต่อปี ในลักษณะดอกเบี้ยทบต้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ค่าก่อสร้างไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงถึงขนาดนั้น
โดยสรุปแล้วภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในประเทศชาติ ไม่ทำให้คนรวย ๆ จนล้นฟ้า เหมือนสนามหญ้า ที่หญ้าทุกต้นควรถูกตัดให้เสมอหน้ากันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้นั่นเอง เพราะหากปล่อยให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง คนระดับล่างที่ถูกเอาเปรียบ ก็จะก่อความไม่สงบ สังคมก็จะขาดความสงบสุข ชนชั้นสูงเองก็จะอยู่ยากนั่นเองผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย ([email protected]) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน